ชีวิตกับ “ซอสามสาย” ของศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
ถ้าวันนี้คุณเข้าสู่วัย ๖๐ แล้ว คงจำภาพสาวหน้าหวานสวมชุดไทยนั่งสีซอสามสายเคียงข้างนักร้องเพลงไทยเดิมเสียงทอง นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ทางทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหมได้ เพราะยุคสมัยนั้นไม่มีศิลปินหญิงสีซอสามสายได้ไพเราะงดงามเป็นที่เชิดหน้าชูตาวงการดนตรีไทยได้เทียบเท่าสาวคนนี้อีกแล้ว
Super Ager Thailand ขอแนะนำพี่อร ศิริพันธ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำลังเดินทางสู่การเป็น Super Ager ในวัย ๘๐ ปี เพราะปัจจุบันในวัย ๗๙ ปี ยังคงมีความแจ่มใสทั้งสมอง กาย และใจ โดยทำในสองสิ่งที่รักอยู่เป็นประจำ นั่นคือสืบสานวิชาซอสามสาย โดยถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาผู้สนใจมาเรียน รวมทั้งถ่ายทอดฝีมือปรุงอาหารไทยโบราณอันเลื่องชื่อในธุรกิจร้านอาหาร และกิจการเคเตอริ่ง “ซอสามสาย” ด้วย
**เมื่อเป็นดาวจอแก้ว
**เมื่อเป็นดาวจอแก้ว
“พี่อรไม่ได้เป็นดาราค่ะ เป็นแค่นักดนตรีและผู้ประกาศรายการ” พี่อรรีบออกตัวทันทีที่ได้รับการถามถึงวันแห่งความรุ่งโรจน์หน้าจอแก้ว แล้วเล่าต่อว่าได้เรียนสีซอสามสายกับคุณตา พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ผู้เป็นปรมาจารย์ดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ในเรื่องฝีมือซอสามสาย และขลุ่ย
“พี่อรเริ่มเรียนกับคุณตาตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ คุณพ่อคุณแม่พาไปเรียนซอสามสายที่บ้านวัดราชาฯ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ปกติคุณตาไม่สอนซอสามสายให้เด็กนะ พี่อรเป็นคนแรกเลย พอเริ่มสีได้ คุณตาก็พาออกงาน ไปแนะนำให้คนรู้จักว่าเป็นหลานสาวอย่างภาคภูมิใจ พอเข้าเรียนมัธยมที่สตรีวิทยาก็สีซอสามสายกับวงดนตรีไทยของโรงเรียนมาตลอด”
พี่อรเล่าว่าเรียนแผนกศิลป์ตอนมัธยมปลาย และชอบภาษาต่างประเทศ รวมทั้งประวัติศาสตร์ แล้วยังชอบการวาดรูปมาก พี่อรได้ฝึกมือเตรียมสอบเอนทรานซ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งยุคนั้นมีศิลปินดังๆ ช่วยฝึกมือให้ เช่น อาจารย์ลาวัณย์ ดาวรายเอย พี่แพท (หรือน้าแพท ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด) ทำให้สนุกมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะสอบไม่ติด
“สมัยนั้นเขาให้เลือกคณะเรียนได้ถึง ๖ คณะ ยุคนั้นถ้าเรียนสายศิลป์ก็ต้องเลือกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสอง พี่อรเลือกรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเลือกคณะจิตรกรรม ศิลปากรเป็นอันดับสาม พี่อรทำคะแนนได้สำหรับเข้าคณะจิตรกรรม แต่เพราะเลือกเป็นอันดับสาม เขาเลยให้คนที่เลือกอันดับหนึ่งก่อน ผิดหวังมาก เราเลือกคณะตามที่เขาแนะแนว แทนที่จะเลือกตามที่อยากเรียนที่สุดไว้คณะต้นๆ แล้วในที่สุดก็พลาดหมด”
พี่อรผิดหวังจากการสอบไม่ติด จนเสียใจไปพักใหญ่ เพราะสมัยนั้น ถ้าเอ็นซ์ฯ ไม่ติด ก็ต้องเตะฝุ่นไปพลางๆ หนึ่งปีเพื่อสอบใหม่ปีหน้า แต่แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อคุณจำนงค์ รังสิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม เห็นพี่อรจากการสีซอสามสายร่วมวงดนตรีของโรงเรียนสตรีวิทยาเพื่อถวายพระพรฯ ออกทางทีวี และเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการสืบสานวัฒนธรรมไทย
“คุณจำนงค์กับคุณพิชัย วาสนาส่ง มาติดต่อขอตัวไปทำงานให้ช่อง ๔ บางขุนพรหมถึงที่บ้านเลย สมัยนั้นพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกสาวไปเป็นดาราหรอก ไม่เหมือนสมัยนี้” พี่อรเล่าพร้อมหัวเราะ “แต่เมื่อคุณจำนงค์รับปากว่าจะไม่ให้เล่นละคร ก็เลยยอมให้ไป สมัยนั้นไม่ได้มีค่าตัวหรอกนะ เพราะเป็นพนักงานประจำ ต้องทำงานหลายอย่างเลย หนึ่งในนั้นคือเป็นผู้ประกาศรายการ พอทีวีเริ่มออกอากาศเวลา ๖ โมงเย็น ก็จะมีพี่อรมาประกาศว่า สวัสดีค่ะ ท่านผู้ชม รายการต่อไปนี้คือ .. แล้วยังมีงานสีซอสามสายในรายการ “เพลินเพลงกับนฤพนธ์” มีครั้งหนึ่งนะ คุณจำนงค์ จัดให้คุณนฤพนธ์ มานั่งร้องเพลงบนตั่งข้างๆ พี่อรสีซอสามสายออกรายการ ค่ำนั้นพอกลับถึงบ้าน คุณพ่อมายืนรอแล้วแขวะว่า แหม สมบทสมบาทกันดีนะ ”
ชื่อเสียงของพี่อรเริ่มเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่ในฐานะผู้ประกาศ แต่เป็นศิลปินซอสามสาย ผู้สืบสานวัฒนธรรมไทยอัน ด้วยดวงหน้าสวยหวานอย่างไทยแท้ ร่างบางระหงงดงามในชุดไทย สง่างามจับตาจับใจคนทั้งประเทศ ต่อมาทางทีวีช่อง ๔ ได้ส่งเทปวีดีโอ ที่พี่อรเดี่ยวซอสามสายเพลงพญาโศก เข้าประกวดศิลปะและดนตรีนานาชาติ ที่เมืองบัฟฟาโลว์ รัฐนิวยอร์ค และวิดีโอชุดนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ
“ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮาดังมากๆ ออกข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ซอสามสายไทยไปอเมริกา เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากๆ ทั้งของตัวเอง ทั้งของทีวีช่อง ๔ ของประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของคุณตา ผู้ถ่ายทอดวิชาซอสามสายนี้ให้ คุณตาดูทีวีเวลาพี่อรสีซอออกรายการทุกครั้งเลยนะ เห็นว่าดูไปก็ยิ้มไป”
ด้วยเหตุนี้เอง พี่อรจึงได้รับเลือกให้เป็นทูตวัฒนธรรม Ambassador of Goodwill ของ USIS (United States Information Service) โดยได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงเดี่ยวซอสามสาย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา “ก่อนได้รับเลือกต้องไปสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ตอนนั้นอายุก็แค่ประมาณ ๒๐ เอง”
นอกจากอยู่หน้าจอแก้ว เบื้องหลังการทำงานที่ทีวีช่อง ๔ ยังมีทั้งแปลบทหนัง พากย์หนัง ผลิตรายการ ฯลฯ “ทำอะไรได้ก็ทำไป แต่คุณพ่อห้ามเล่นละครเด็ดขาด” พี่อรเล่า
**ชีวิตที่ไม่หยุดอยู่กับที่
ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ ระหว่างทำงานที่ทีวีช่อง ๔ เมื่อมีเวลาว่างพี่อรก็ไปศึกษาหาความรู้ด้วยการเรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน เรียนร้องเพลง เปียโน และไวโอลิน และสามารถสอบชิงทุนของสถาบันเกอร์เธเพื่อไปเรียนต่อเป็นครูสอนวิชาภาษาเยอรมันได้ เมื่อจบหลักสูตรภาษาเยอรมันเวลาสองปีจนได้ Diploma พี่อรได้ใช้ความสามารถทางด้านการร้องเพลงภาษาเยอรมัน สอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อทางด้านศิลปะการดนตรี และได้ทุนจากสถาบัน Richard Strauss Conservatory
หลังใช้ชีวิตอยู่ประเทศเยอรมัน ๔ ปี พี่อรได้ติดตามสามีไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นอีก ๗ ปี เมื่อกลับมาเมืองไทย พี่อรได้เริ่มทำงานสารพัด เช่น เขียนบทความทั้งไทยทั้งอังกฤษให้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง จากนั้นพี่อรก็เริ่มหันไปผลิตรายการโทรทัศน์ โดยเริ่มจากการผลิตรายการเด็กชื่อ เป่ายิ้งฉุบ ให้กับไทยทีวีสีช่อง ๓ รายการ จีจ่อเจี๊ยบ ให้กับช่อง ๙ รายการ บุหลันลอยฟ้า ให้กับช่อง ๕ “ทำสารพัดเลย ตั้งแต่ครีเอทีฟ เขียนสตอรี่บอร์ด เรื่อยไปจนถึงกำกับฯ ตัดต่อ ทำทุกอย่าง เรียนรู้ทุกอย่าง”
ต่อมาก็ได้เปิดบริษัทโฆษณาของตัวเองชื่อว่า Four Scopes “เป็นทั้งเออี ฝ่ายผลิต ถ่ายหนังโฆษณา เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกมาก สินค้าที่ดังมากของบริษัทตอนนั้นคือสลากคุ้มเกล้า เป็นการออกสลากแบบขูดครั้งแรก และครั้งเดียวของประเทศไทยเพื่อหารายได้สร้างโรงพยาบาลภูมิพล”
เมื่องานทางด้านผลิตและโฆษณาเริ่มอิ่มตัว พี่อรก็หันมาจับงานอีกหลายงาน ทดลองทำโน่นทำนี่ เรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น “แรกเลยก็ไปเป็นประชาสัมพันธ์ให้บริษัทเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ ต่อมาก็เป็นฝ่ายการตลาดให้บริษัทเอเอ็ม พีเอ็ม ไทยแลนด์ ดูแลแผนกผลิตอาหาร หลังจากนั้นเลยสนใจกิจการอาหาร ทดลองโปรเจ็คต์ด้านอาหารหลากหลายมาก”
**สู่ธุรกิจซอสามสายเคอเตอริ่ง
“ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะมาเปิดร้านอาหาร เคยคิดว่ามันเป็นงานเลอะเทอะ แต่มีคนยุให้ทำ พี่อรก็มาคิดว่า คุณแม่เป็นคนที่มีฝีมือทำอาหารมาก ทำได้ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารไทยของคุณแม่จะเป็นแบบดั้งเดิมตำรับไทยแท้ มีเทคนิคในการทำมากมาย โชคดีที่ตอนเปิดร้านอาหาร คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ เลยช่วยถ่ายทอดวิชาการทำอาหารเทคนิคต่างๆ ไว้ให้อีกหลายอย่าง
“แต่การทำอาหารใช่ว่า มีสูตรทำอาหารก็ทำได้นะ ต้องอาศัยเทคนิค ความปราณีต บางอย่างต้องฝึกทำ ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง กว่าจะออกมาสำเร็จได้ตามที่ต้องการ ตอนแรกเริ่มเปิดร้านซอสามสายที่ซีคอนสแควร์ ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี เปลี่ยนที่ตั้งร้านอยู่หลายแห่ง ทั้งที่สุขุมวิทซอย ๒๐ ซอย ๒๒ แต่ในที่สุดก็มาจบที่บ้านเกิด สุขุมวิท ๖๑ ที่นี่เป็นบ้านเก่าที่พี่อรเติบโตมา สภาพไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะมีการสร้างบ้านในพื้นที่ให้ฝรั่งเช่า ส่วนนี้ก็ดัดแปลงเป็นร้านอาหารซอสามสาย”
จากร้านอาหาร พี่อรเริ่มขยายเป็นธุรกิจเคเตอริ่ง (Sawsamsai Art and Cousine Co.Ltd.) จนปัจจุบันเป็นเคเตอริ่งรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกจ้าวหนึ่ง มีบริการจัดงานเลี้ยงแบบครบวงจร “พี่อรมีลูกหลายคน โชคดีเหลือเกินที่ลูกทุกคนไม่มีออกนอกทิศนอกทาง มาช่วยกันต่อยอดทำธุรกิจครอบครัว แบ่งแยกหน้าที่กันอย่างลงตัว และทุกคนเชื่อในเรื่องคงรักษาเอกลักษณ์อาหารไทยตำรับดั้งเดิมของเราไว้”
**เดินหน้าสู่เลข ๘ อย่างมีความสุข
ปัจจุบันพี่อรอายุ ๗๙ เต็มแล้ว สุขภาพแข็งแรง ยังแอคทีฟมาก ขับรถมาที่ร้านซอสามสายทุกวันเพื่อดูแลกิจการทั้งหมด ว่างๆ ก็เข้าครัวเอง ประดิษฐ์ทำโน่นนี่อยู่เสมอ งานอดิเรกยามว่างคืออ่านหนังสืออันเป็นนิสัยมาแต่เด็ก อ่านหนังสือทั้งภาษาไทย อังกฤษ เยอรมันและญี่ปุ่น แล้วยังไปเรียนภาษาสเปนเพิ่มอีก
“แต่ทำไมเรียนได้ช้าแบบนี้ไม่รู้ ตอนนี้พออ่านออกเขียนได้ แต่ไม่กล้าพูด สงสัยสมองจะแก่รับไม่ไหว แต่หยุดนิ่งไม่ได้หรอก จะให้แก่แล้วนั่งอยู่บ้านเฉยๆ เฉาตาย ต้องทำงาน ต้องทำอะไรใหม่ๆ เป็นการฝึกสมองไว้เสมอ พบปะเพื่อนฝูงสนุกสนานด้วยถ้ามีโอกาส” นอกจากนี้พี่อรก็ไม่ได้ทิ้งพรสวรรค์ในวิชาซอสามสาย ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แด่ลูกศิษย์ลูกหามาที่มาขอเรียนถึงที่บ้านอยู่เสมอ “พี่อรสอนให้โดยไม่เคยคิดเงินทอง เป็นวิทยาทาน เป็นการถ่ายทอดซอสามสายแบบออริจินัลของพระยาภูมีเสวิน ซึ่งจะว่าไปพี่อรเป็นหนึ่งเดียวที่คงสายตรงของคุณตาไว้โดยไม่เสริมแต่งดัดแปลงใดๆ เลย”
สุดท้ายพี่อรฝากข้อคิดว่า การจะมีอายุยืนแบบมีความสุขและสุขภาพดีนั้น ต้องเริ่มมาจากรากฐานและวัยเด็ก คือกรรมพันธุ์ ซึ่งก็คือครอบครัว ควรจะไม่มีโรคร้ายถ่ายทอดมา เช่น เบาหวาน หรือมะเร็ง ส่วนวิถีชีวิต ก็ควรใช้ชีวิตแบบสัมผัสธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งเล่นกลางแจ้งประสาเด็ก และสุดท้ายคืออาหารที่ดี ควรบริโภคอาหารสดใหม่เสมอ “มื้อเช้าแบบราชา มื้อกลางวันแบบขุนนาง และมื้อเย็นแบบยาจก”
พี่อร ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา Super Ager ผู้ผ่านร้อนหนาวเรื่องราวมากมาย ซึ่งชีวิตเริ่มต้นจากซอสามสาย และในที่สุดก็ลงตัวอย่างมีความสุขที่ “ซอสามสาย” อันเป็นเครื่องดนตรีไทยโบราณให้สืบสาน และยังเป็นชื่อร้านอาหารไทยโบราณให้สืบทอดอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Super Ager Thailand
**ชมภาพอดีตพี่อรกับซอสามสายได้
เรื่อง : จีรณี จิตตเสวี
ภาพปกนิตยสารเสรีภาพในยุคนั้น
สวมชุดไทยเล่นซอสามสาย
แสดงในรายการ “เพลินเพลงกับนฤพนธ์”
เมื่อครั้งเป็นเด็กหญิงได้แสดงวิชาที่ร่ำเรียนมาจากคุณตา (พระยาภูมีเสวิน) ผู้เป็นปรมาจารย์ซอสามสายของไทย
ในวัย 79 ปี แต่ยังคงถ่ายทอดซอวิชาสามสาย มรดกไทยให้คนรุ่นใหม่ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
ชีวิตกับ “ซอสามสาย” ของศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา...
คุณศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้ง ร้านอาหารตำรับไทยเดิม...
รวมรีวิวเพจนักชิมอาหารไทยชื่อดัง ร้านอาหารไทย ประวัติยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น “ซอสามสาย” Bangkok...
รวมรีวิวเพจนักชิมอาหารไทยชื่อดัง ร้านอาหารไทย ประวัติยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น “ซอสามสาย” Bangkok...
รวมรีวิวเพจนักชิมอาหารไทยชื่อดัง ร้านอาหารไทย ประวัติยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น “ซอสามสาย” Bangkok...
รวมรีวิวเพจนักชิมอาหารไทยชื่อดัง ร้านอาหารไทย ประวัติยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น “ซอสามสาย” Bangkok...
รวมรีวิวเพจนักชิมอาหารไทยชื่อดัง ร้านอาหารไทย ประวัติยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น “ซอสามสาย” Bangkok...