#งานแต่ง #พานขันหมาก #สถานที่จัดงานแต่งงาน #จัดงานแต่ง #พิธียกน้ำชา #ชุดขันหมาก #พานขันหมากทันสมัย #พานขันหมากเอก
พานขันหมากจีน
"สีแดง" แสดงถึงความสิริมงคล
พานขันหมากจีน คือ ชุดข้าวของเครื่องใช้ประกอบในพิธีสู่ขอแต่งงานค่ะ ซึ่งทุกอย่างที่ถูกกำหนดและจัดเตรียมไว้ในขันหมากจีนนั้น ล้วนสื่อถึงความหมายดี ๆ อันเป็นสิริมงคล และสอดแทรกด้วยคำอวยพรเพื่อฝากไว้ให้กับเอาไว้ให้กับคู่บ่าวสาว ซึ่งการจัดพานขันหมากแบบจีน ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ส่วนมากก็มักจะจัดเป็นคู่ ๆ ให้มีความหมายถึงคู่ครอง และใช้สีแดงเป็นหลักค่ะ
ที่สีแดงมีความสำคัญต่อชาวจีนนั้น ก็เพราะ สีแดงเป็นเสมือนจิตวิญญาณของคนในประเทศจีน ประเทศที่มีอากาศหนาวเป็นส่วนใหญ่ ไฟ แสงแดด และความอบอุ่นจึงมีความสำคัญมาก ๆ นั่นองค่ะ ชาวจีนก็เลยยึดถือและใช้สีแดงในเทศกาล วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ มาโดยตลอด แถมความหมายของสีแดงก็ยังถูกขยายออกไปอีก เช่น สีแดงหมายถึงความรักบ้าง ความเป็นสิริมงคลบ้าง อำนาจบารมีบ้าง ความกล้าหาญ และต่าง ๆ อีกมากมายเลยค่า
เครื่องขันหมาก
1. สินสอดทองหมั้น (เพ้งกิม)
เพ้ง คือ เงินสินสอด ขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงว่าจะเรียกร้องเท่าไหร่
กิม คือ ทอง แขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงว่าจะเรียกร้องเท่าไหร่ เช่นเดียวกัน
2. กล้วย ต้องยกมาทั้งเครือเขียวๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ “ซังฮี่” บนเครือกล้วย และทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ และฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับ เมื่อพิธีสู่ขอเสร็จแล้วกล้วยเป็นผลไม้ที่มี 2 ความหมายมงคล
– ดึงดูดสิ่งดีๆให้มาเป็นของเรา ซัง แปลว่าคู่ ฮี่ แปลว่า ยินดี ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง
– จำนวนผลที่มากมาย อวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมาก ๆ
3. อ้อย อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้นเพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น
4. ส้ม เป็นผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียวติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวนเป็นเลขคู่แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนด
5. ขนมแต่งงาน ส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน การกำหนดชนิดคือ จะให้เป็นขนม 4 สีเรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือขนม 5 สี เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ประกอบด้วยขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด, ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อนนอกจากนี้บางบ้านอาจขอให้มีน้ำตาลทราย, ซาลาเปาไส้หวาน, และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนมแต่งงานและคุกกี้กระป๋องฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า “สั่งเปี้ย”สั่ง หรือ ซั้ง แปลว่า ให้เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงาน
6. ชุดหมู ในปัจจุบันน้อยมากที่จะมีในพิธีที่พบเห็น แต่ก็ยังคงมีได้จะมีอยู่ประมาณ 3 ถาด อาจจะคล้ายๆ กับขันหมากแบบไทย
– ถาดที่ 1 : เป็นชุดหัวหมูพร้อม 4 เท้าและหางโดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่
– ถาดที่ 2 : เป็นถาดขาหมูสดติดตัวซังฮี่เช่นเดียวกัน
– ถาดที่ 3 : เป็น “โต้วเตี้ยบะ” เท่านั้นคือเป็นเนื้อหมู ตรงส่วนท้องของแม่หมูเพื่ออวยพรให้เจ้าสาวได้เป็นแม่คน แม่ที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชาย
ข้าวของเครื่องแต่งงานของเจ้าสาว
1. ชุดเอี๊ยมแต่งงาน
ตัวเอี๊ยมเป็นสีแดงสีมงคลให้เฮงๆ ปักลายอักษรซังฮี่หรือคู่ยินดีและปักตัวหนังสือ 4 คำ “แป๊ะนี้ไห่เล่า” แปลว่าอยู่กินกันจนถึงร้อยปี พร้อมด้วยลวดลายมังกรและหงส์ซึ่งลายนี้มีชื่อเรียกว่า “เล้งหงกิ๊กเซี้ยง” ให้ความหมายว่าถึงเวลาแห่งความสุขและความรุ่งเรืองที่กำลังมาหา ขอให้คู่สมรสได้พบแต่สิ่งดีๆในชีวิตใหม่ คือชีวิตคู่ของการอยู่ร่วมกันบนเอี๊ยมมีกระเป๋าให้ใส่ “โหงวเจ๊งจี้” หรือเมล็ดธัญพืช 5 อย่างคือ ข้าวเปลือกข้าวสาร ถั่วเขียว สาคู ถั่วดำห่อใส่กระดาษแดงอวยพรให้สามีภรรยา และลูกของตระกูลได้งอกงามรุ่งเรืองพร้อมทั้งใส่เหรียญทองลายมังกรเรียกว่า เหรียญกิมเล้ง เพื่ออวยพรให้ร่ำรวยบางบ้านอาจมีใส่เงินทองเพิ่มเข้าไปด้วย แล้วใส่ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวงที่หน้าตาคล้ายต้นกุยช่าย ต้นชุงเฉ้านี้คนจีนถือเป็นต้นไม้มงคลหมายถึงเกียรติ และที่ปากกระเป๋าเอี๊ยมให้เสียบ “ปิ่นทองยู่อี่” ไว้ให้หมายความว่าทุกเรื่องให้สมปรารถนาในวันส่งตัวฝ่ายชายต้องเอาปิ่นยู่อี่มาคืน เพื่อให้เจ้าสาวได้ติดผมตอนส่งตัวสายของเอี๊ยมนิยมใช้โซ่ทองคล้องใส่ไว้ ถ้ารวยจริงก็ใช้ทองจริงนิยมเป็นทองหนัก 4 บาทเพราะถือเคล็ดเลข 4 เป็นเลขดี
2. ไข่สีแดง 1 ถาดจัดเป็นเลขคู่บางบ้านเตรียม 24 ลูกเพื่ออวยพรเป็นนัยว่าเจ้าสาวจะไปให้กำเนิดลูกหลานมากๆ
3. โอวเต่ากิ๊ว คือ ขนมถั่วดำคลุกน้ำตาลมีแซมข้าวพองสีแดงทำเป็นลูกกลมๆ ที่ร้านขนมบอกว่านิยมใช้ 14 ลูกหรือ 7 คู่
4. ส้มเช้ง ติดตัวซังฮี่ 1 ถาดใหญ่มีจำนวนส้มเป็นเลขคู่บางบ้านมีจัดส้มสีทองปนไป 4 ลูกด้วย
5. ชุดลำไยแห้ง 2 ชุด
6. ชุดชุงเฉ้า 2 ต้น ห่อด้วยน้ำตาลทรายแดง และกระดาษแดง (ผูกเชือกแดงติดกัน)
7. อั้งฮวย หรือใบทับทิมเตรียมไว้มากๆ แล้วนำมาแบ่งใส่ประดับในของทุกถาดที่ฝ่ายชายจะต้องยกกลับ
8. เผือกบางบ้านไม่นิยมไข่ก็จัดเป็นเผือกคนจีนเรียก “โอวเท้า” หมายถึงความสมบูรณ์นิยมจัดเป็นเลขคู่
9. เม็ดสาคูเอาไว้โรยในของต่างๆ เป็นเคล็ดอวยพรสาคูเม็ดกลมๆ คู่บ่าวสาวกลมเกลียวกัน
มีหลายอย่างที่นิยมแบ่งกันคนละครึ่งเช่น ขาหมู 2 ขาก็คนละ 1ขา อ้อย ขนมขันหมาก ชุดลำไยแห้ง ต้นชุงเฉ้า ส่วนของที่ฝ่ายชายต้องเอากลับไปทั้งหมด ก็คือ กล้วยเขียวเครือใหญ่, เอี๊ยมแต่งงาน, ชุดหัวใจหมู, ถาดไข่, และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง
พิธีแต่งงานของจีนเป็นเรื่องที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมและ ขนมธรรมเนียมประเพณี ที่เห็นตรงนี้คือของจำเป็น 10 อย่างในพิธีแต่งงานสำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงชีวิตสมรส ที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง ความรัก เสียงหัวเราะและลูกหลานเต็มบ้านสำหรับเครือญาติทั้งสองฝ่าย
1. มังกรเคียงหงส์โอบกอดลูกโลก
คู่สมรสทั้งหลายควรมีรูปจำลองของมังกรและหงส์ไว้ในบ้าน เพราะมังกรและหงส์เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสมรสที่สมบูรณ์พูนสุขเปี่ยมไปด้วยความสำเร็จราบรื่นและความเจริญรุ่งเรือง รวมไปถึงการมีลูกชายหลายคนด้วย
2. กระดาษฉลุลายมงคลของจีน
ใช้สำหรับตกแต่งสถานที่ประกอบพิธีแต่งงานและห้องหอ โดยใช้สัญลักษณ์อักษรคู่แห่งความสุข มังกรและหงส์ เป็ดแมนดารินคู่เงื่อนมงคล ดอกโบตั๋น และลูกท้อสำหรับความรักที่ยั่งยืนในชีวิตคู่
3. เทียนคู่มังกรและหงส์
เป็นเทียนคู่สีแดงสำหรับพิธีแต่งงาน โดยเล่มหนึ่งตกแต่งด้วยลวดลายมังกร ส่วนอีกเล่มหนึ่งเป็นลายหงส์พร้อมกับสัญลักษณ์อักษรคู่แห่งความสุข ตามประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจะมีการจุดเทียนคู่ไว้ในห้องหอ ในคืนวันแต่งงานเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย
4. ช่อดอกไม้มงคลสมรสประดับอกสีแดงและทองดอกไม้ที่ทำจากผ้าไหมและกำมะหยี่ (โดยทั่วไปมักเป็นดอกโบตั๋นสีแดงสด) นำมาผูกติดไว้กับผ้าริบบิ้นสีแดง ซึ่งมีตัวหนังสือติดไว้ว่า “เจ้าสาว” และ“เจ้าบ่าว” รวมไปถึง“เพื่อนเจ้าบ่าว” และ“เพื่อนเจ้าสาว” หรือแม้กระทั่ง“ผู้นำในการประกอบพิธี” และขนาบข้างด้วยลายมังกรและหงส์สีทองเพื่อความเป็นสิริมงคล
5. ชุดชามข้าวทอง
เป็นชุดพร้อมกับช้อนและตะเกียบทองสำหรับชามแต่ละใบ มักประดับประดาด้วยลวดลายรูปมังกรและหงส์ พร้อมด้วยสัญลักษณ์อักษรคู่แห่งความสุข คู่บ่าวสาวจะต้องรับประทานอาหารมื้อแรกร่วมกันฉันสามีภรรยาด้วย ชุดชามข้าวมงคลนี้เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองอันจะมีร่วมกัน
6. ชุดแต่งผม
ประกอบด้วยหมอนปักเข็มทรงกลมล้อมรอบด้วยตุ๊กตารูปเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ 10 ตัว(ช่วยนำโชคในเรื่องทายาทสืบสกุล) ด้ายห้าสี (เป็นสัญลักษณ์ของธาตุทั้งห้า) แป้งผัดหน้า หวีไม้ กระจกกลม เชือกเกลียวสีแดง และชุดบางสำหรับใส่นอน
7. ชุดอ่างน้ำสืบสกุล
ประดับประดาด้วยรูปเป็ดแมนดารินคู่ และสัญลักษณ์อักษรคู่แห่งความสุขในหนึ่งชุดประกอบด้วย เหยือก ถาดชา อ่างล้างหน้า และกระโถน ภาชนะทั้งหมดนี้จะถูกบรรจุไว้ด้วยผลไม้ และพวงเงินเหรียญสำหรับงานพิธีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสมรสที่เจริญรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุข
8. คันฉ่องเล็กทรงกลม
เจ้าสาวต้องพกคันฉ่องกลมขนาดเล็กไว้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ และเพื่อคุ้มกันภัยจากการกระทำของปีศาจทั้งปวงในระหว่างพิธีแต่งงาน เพราะวิญญาณร้ายอาจเกิดความอิจฉา กระจกพิเศษนี้ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์อันเป็นมงคลอันได้แก่ ค้างคาวทั้งห้า และสัญลักษณ์แห่งการมีอายุมั่นขวัญยืนเพื่อนำโชคดี และความราบรื่นตลอดพิธีแต่งงาน
9. ซองแดง
ซองแดงที่มีลายพิมพ์ด้วยหมึกสีทองเป็นสัญลักษณ์อักษรคู่แห่งความสุข ซองเหล่านี้จะใส่เงินไว้สำหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ในระหว่างพิธีสมรสเช่น การเล่นกั้นประตู พิธียกน้ำชา เป็นต้น
10. ตะเกียงคู่นำโชคสีแดง
ที่ตะเกียงสลักด้วยคำมงคลที่มีความหมายถึงชีวิตสมรสที่มีความสุขยั่งยืน ตะเกียงคู่นี้จะต้องวางเอาไว้ที่หัวนอนของคู่สมรสเพื่อจะได้นำมาซึ่งการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมบูรณ์พูนสุข