พานขันหมากงานแต่ง มีอะไรบ้าง?
สำหรับคู่บ่าวสาวที่กำลังจะมี พิธีแต่งงานแบบไทย สิ่งที่จะต้องตระเตรียมคงไม่พ้น เรื่องของ “พานขันหมาก“ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสิ่งของในพานขันหมากที่เราจะต้องเตรียมนั้นก็มีมากมายหลากหลายแบบ วันนี้ทางซอสามสาย เลยจะมาแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเตรียมขบวนขันหมากตามประเพณีไทยให้ดูกันค่ะว่ามีอะไรกันบ้าง
การแห่ขันหมากในงานแต่งงาน ในขบวนขันหมากเราส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น “ขบวนขันหมากเอก” และ “ขบวนขันหมากโท”
ขบวนขันหมากเอก
- ขันหมากเอก นำโดยพานขันหมากเป็นพานของฝ่ายชายเชิญมาที่บ้านฝ่ายหญิง ในพานจะมี หมาก 8 ผล, พลู 4 เรียง เรียงละ 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ข้างในบรรจุ ถั่วเขียว, งาดำ, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก, ใบเงิน, ใบทอง, ใบนาค, และซองเงิน 1 ซอง
- พานสินสอด พานทองหมั้น ใช้สำหรับใส่เงิน, ทอง, เพชร, และนาค ไว้ในพานเดียวกัน หรือ 2 พานก็ได้ ซึ่งพานนี้จะมีผ้าคลุมไว้ ส่วนใหญ่ใช้ผ้าลูกไม้หรือฝาครอบ
- พานแหวนหมั้น ใช้พานขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับพานอื่นๆ ซึ่งจะออกแบบไว้สำหรับวางแหวนหมั้น และประดับพานด้วยดอกไม้ให้สวยงาม
- พานธูปเทียนแพ ในพานธูปเทียนแพประกอบด้วย กระทงดอกไม้ครอบด้วยกรวยใบตอง ธูปแพไม้ระกำ 10 ดอก และเทียน 10 แท่ง วางอยู่บนพานซึ่งจะตกแต่งสวนงามอลังการยังไงก็ได้ แต่ห้ามวางธูปกับเทียนสลับกันเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจากงานแต่งสุดมงคลจะกลายเป็นงานอวมงคลไปทันที เพราะในงานอวมงคลอย่างงานศพ จะวางเทียนไว้ด้านบนตามด้วยธูป
- พานผ้าสำหรับไหว้ จำนวนแล้วแต่จะกำหนด ซึ่งพานไหว้ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนจะใช้พานธูปเทียนแพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืน และผ้าสำหรับห่ม 1 ผืน เทียน และธูปหอม ดอกไม้ 1 กระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่ต้องจัดพานดังกล่าว แต่จะจัดในส่วนที่สอง คือ สำหรับที่จะใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่ พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่าย โดยการใช้ผ้าขาวสำหรับนุ่งและผ้าห่ม อย่างละ 1 ผืน หรือจะใช้เสื้อผ้า หรือของอื่น ๆ แทนก็ได้ แต่ไม่ต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้
ขบวนขันหมากโท
ขันหมากโท เป็นขันหมากบริวารของขันหมากเอก จะมีตั้งแต่ พานที่จัดวางขนมมงคลทั้งหมด 9 อย่าง เป็นจำนวน 2 พาน ขนมในพานอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักๆ ขนมมงคลที่นิยมจะได้แก่ ขนมเสน่ห์จันทร์ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมข้าวเหนียวแก้ว ขนมหม้อแกง ขนมชั้น เป็นต้น นอกจากนี้จะมี พานไก่ต้มนอนตอง พานหมูนอนตอง พานวุ้นเส้น พานกล้วยหอม พานส้มโอ พานชมพูเพชร พานคู่ขนมเสน่ห์จันทร์หรือขนมเปี๊ยะ พานมะพร้าว โดยจะจัดอย่างละ 1 คู่ พร้อมกับมีพานเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ต้นกล้วย 1 คู่ ต้นอ้อย 1 คู่ เพื่อสื่อถึงให้คู่บ่าวสาวทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ต้นกล้วยยังหมายถึงให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง โดยหลังจากเสร็จพิธีบ่าวสาวจะต้องนำไปปลูก และเก็บกิน
เจ้าสาวเองก็ต้องเตรียมพานขันหมากเหมือนกันนะคะ เป็นพานเชิญขันหมาก 1 พาน เพื่อเชิญขันหมากของฝ่ายชายเข้าผ่านประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งในพานจะมีมวนหมากและพลู โดยคนที่ถือพานนี้จะเป็นเด็กผู้หญิงที่มาจากฝั่งเจ้าสาว
ธรรมเนียมการแห่ขันหมากงานแต่งนี้ อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานแล้วนะคะ ถึงแม้ปัจจุบันจะได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวกของคู่บ่าวสาวมากขึ้น แต่ก็ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เป็นมงคล และมีความอบอุ่น อบอวลไปด้วยความรักไม่เสื่อมคลายไปเลยค่ะ