ศิลปินเดี่ยวซอสามสาย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต

ครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

คุณศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้ง ร้านอาหารตำรับไทยเดิม “ซอสามสาย” หรือ “ซอสามสาย เคเทอริ่ง” รับจัดเลี้ยงอันดับต้นๆของไทยแล้ว ยังเป็นศิลปินเดี่ยวซอสามสายที่มีชื่อเสียงโด่งดัง สมัยที่ยังมีช่อง 4 บางขุนพรหมอีกด้วย 

นอกจากนี้ คุณศิริพันธุ์ยังเป็นคุณครูผู้สอนซอสามสายให้เป็นวิทยาทานกับลูกศิษย์หลายๆคน ที่สนใจอยากเรียนซอสามสายอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ นายวัชรคม โสภณดิลก ที่ได้รับการสอนเดี่ยวซอสามสาย จากคุณครูศิริพันธุ์ เมื่อเรียนจบ จึงได้จัดทำประวัติชีวิตคุณครูมาไว้ ณ ที่นี้

ประวัติชีวิตคุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

 คุณครูศิริพันธุ์ บรรเลงเดี่ยวซอสามสาย ในงาน ๑๒๐ ปี พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)

ชีวิตวัยเด็ก

        คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นบุตรสาวของนายแช่ม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และนางจงจิตร์ จิตตเสวี มีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน มีพี่ชาย ๒ คน ส่วนคุณครูเป็นลูกสาวคนสุดท้อง เติบโตและอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๑/๑ ซอยสุขุมวิท ๖๑ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร คูณครูได้เล่าว่า

ครูเกิดและเติบโตในครอบครัวตระกูลคนไทยชนชั้นกลาง เมื่อปี ๒๔๘๘ นึกภาพออกมั้ย ๗๕ ปีมาแล้ว ก็ยังอุตส่าห์ได้เกิดที่โรงพยาบาลนะ ไม่ใช่มีหมอตำแยมาทำคลอดให้ตามบ้าน ซึ่งสมัยนั้นก็ยังมีหมอตำแยมาทำคลอดให้ตามบ้านอยู่ สูจิบัตรไม่มีหรอก แต่คุณแม่ก็ได้จดเอาไว้ว่า เกิดวันที่เท่าไหร่ เป็นวันอะไร เวลาอะไร ครอบครัวเป็นครอบครัวคนไทยฐานะปานกลาง ครูเกิดตอนหลังสงครามโลกยุติลงพอดี เลยไม่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของคนในสมัยนั้น คุณแม่ของครูเป็นลูกสาวของพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ส่วนคุณพ่อเป็นลูกท่านผู้พิพากษา พระยาวทัญญูวินิจฉัย นามสกุล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา


รูปคุณแม่ของคุณครูศิริพันธุ์

  

คุณศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

จากซ้ายไปขวา กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, คุณพ่อคุณครูศิริพันธุ์

 

      คุณพ่อของคุณครู ก่อนที่ท่านจะทำงานรับราชการอยู่ที่กระทรวงการข้าว ท่านเคยรับใช้เป็นข้าราชบริพารใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมบริพัตรท่านเป็นเจ้านายผู้มีความรักในดนตรีไทยและที่สำคัญท่านยังทรงเล่นซอสามสายอีกด้วย ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของคุณครูมีความรักในดนตรีไทยเป็นอย่างมาก โดยมีอิทธิพลมาจากคนในครอบครัวจนกระทั่งส่งผลมาสู่คุณครูซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน ในวัยเด็กของคุณครูนั้นคุณครูมีชีวิตเหมือนเด็กๆ ปกติ มีอุปนิสัย ร่าเริง สดใส เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ที่ชอบวิ่งเล่นซุกซนตามประสาเด็กๆ ครั้งหนึ่งได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงเทพ คุณครูต้องย้ายบ้านตามคุณพ่อคุณแม่ไปตามที่ต่าง ๆ ยังไม่มีบ้านอยู่เป็นการถาวร จนกระทั้งมาลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านหลังนี้ บ้านเลขที่ ๒๑/๑ ซอยสุขุมวิท ๖๑ ซึ่งก็คือร้านอาหารซอสามสายในปัจจุบัน ในสมัยก่อนนั้นมีชื่อซอยว่า ซอยเศรษฐบุตร ยังไม่มีความเจริญเหมือนในปัจจุบัน คุณครูยังเล่าให้ฟังอีกว่า

คุณศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

บ้านไม้สองชั้นหลังเก่าที่คุณครูศิริพันธุ์อยู่อาศัยและเติบโตในวัยเด็ก

ปัจจุบันคือร้านอาหารซอสามสาย 

สมัยก่อนเค้าเรียกแถวนี้ว่าบ้านนอก พวกคนบ้านนอกมาแล้ว มีแต่ท้องนา บ้านข้าง ๆ ไม่มีเลย ในซอยทั้งหมดมีบ้านอยู่ประมาณ ๕ หลัง ติด ๆ กันก็มีแต่ป่าละเมาะ ตอนเด็ก ครูก็จะไปวิ่งเล่นท้ายซอย มีลำคลอง ไปวิ่งเล่น ไปเก็บผลไม้ มีน้อยหน่าป่า มีต้นตะขบ ก็ไปปีนต้นตะขบเก็บลูกตะขบมากิน มีมะขามเทศ ครูก็จะได้กินผลไม้ตามนั้นแหละ เป็นช่วงชีวิตวัยเด็กที่เรียบง่ายและมีความสุขดี

 

การศึกษาสามัญ

        คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เริ่มเข้าศึกษาเล่าเรียนในสายสามัญ โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนสุกิจวิทยาลัย มีเจ้าของโรงเรียนคือ ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น โรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน เดินจากปากซอยบ้านของคุณครูไปถึงโรงเรียนเป็นระยะทางไม่ไกลนัก ถ้าเดินทางด้วยรถเมล์สีขาว ประมาณหนึ่งป้ายรถเมล์ก็ถึงโรงเรียนสุกิจวิทยาลัย คุณครูเล่าว่า

เวลาไปโรงเรียนคุณแม่จะขับรถไปส่ง คุณแม่จะขับรถแนช (Nash) ซึ่งเก๋มากในสมัยนั้น ส่วนตอนเย็นก็จะเดินจากโรงเรียนกลับบ้านกับเพื่อน ๆ ที่บ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน บางวันก็จะมีเถลไถลไปบ้านเพื่อนที่อยู่ในละแวกเดียวกันบ้างระหว่างทางกลับบ้าน แต่ถ้าวันไหนครูขี้เกียจเดินก็จะมีอันเป็นไปว่าเวลาขึ้นรถเมล์ ต้องขึ้นไปนั่งหลังสุดเพราะไม่มีสตางค์ พอกระเป๋ารถเมล์เดินมาก็จะแกล้งทำเป็นหลับบ้าง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ พอถึงป้ายรถเมล์ก็จะรีบลงรถ แล้วรีบวิ่งหนีเลย วิ่งเร็วจี๊ดเลย เพราะแค่ป้ายเดียวไง เป็นเรื่องที่น่าตลกดีในตอนนั้นสำหรับเรื่องราวในวัยเด็กของครู

     หลังจากที่คุณครูเรียนจบจากโรงเรียนสุกิจวิทยาลัยแล้วนั้น คุณครูก็ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา คุณครูเล่าว่า

คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่เลย ตอนนั้นคุณพ่อรับราชการมีรถประจำตำแหน่ง ก็ขับรถจากบ้านแถวสุขุมวิท ไปส่งที่โรงเรียนสตรีวิทยา ระยะทางไกลมากนะ จากถนนสุขุมวิทไปถนนดินสอ เขตราชดำเนิน ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงแม้รถจะไม่ติด แต่ถนนสมัยนั้นเป็นถนนราดยางมะตอย ที่ในแต่ละวันแทบไม่มีรถยนต์สัญจรไปมาหนาแน่นเหมือนอย่างในปัจจุบัน มีเพียงรถเมล์ขาวสายเดียวที่นาน ๆ ที จะผ่านมาซักคัน รถยนต์ส่วนตัวที่นั่งไปก็สามารถที่จะเปิดกระจกยื่นหน้าออกไปรับลม สูดอากาศบริสุทธิ์ได้ ไม่มีมลพิษหรือฝุ่นพีเอ็มสองจุดห้าเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

        ในสมัยนั้นโรงเรียนสตรีวิทยามีวงดนตรีไทยประจำโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ภายใต้การควบคุมดูแลโดย คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณครูเรียนซอสามสายอยู่กับท่านเจ้าคุณตา พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) มีงานที่ไหนท่านก็จะพาคุณครูไปแสดงความสามารถพาไปออกงานต่าง ๆ ไปแนะนำตัว ทำให้เป็นที่รู้จักว่าคุณครูเป็นหลานสาวท่านเจ้าคุณพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) สีซอสามสายได้ ประจวบกับในขณะนั้นโรงเรียนสตรีวิทยาขาดผู้บรรเลงซอสามสาย คุณพ่อและคุณแม่ของคุณครูจึงได้ให้คุณครูย้ายจากโรงเรียนสุกิจวิทยาลัยไปเรียนในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อเข้าร่วมวงดนตรีไทยที่นั่น คุณครูเล่าว่า

โรงเรียนสตรีวิทยาต้องการให้ครูมาร่วมวงดนตรีไทยของโรงเรียน เป็นวงดนตรีไทยหญิงล้วนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ครูจึงได้รับโอกาสเข้าไปเรียนที่โรงเรียนนั้น เพราะปกติถ้าให้สอบเข้าก็ตก จริง ๆ ถ้าให้สอบเข้าเองไม่ได้หรอก เพราะครูเป็นคนเรียนไม่เก่ง สมัยนั้นครูชอบวิชาภาษาต่างประเทศกับวิชาประวัติศาสตร์ นอกนั้นครูไม่ชอบเลย พีชคณิต ตรีโกณ ครูเรียนแผนกศิลป์ แต่ก็ต้องเรียน ไม่ชอบเลย ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าสมองเลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม ไม่เข้าใจทั้งสิ้น แต่ชอบเรียนภาษาฝรั่งเศส ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ แต่ที่รู้กันว่าวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่ค่อยน่าสนใจ แต่ครูเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ครูเป็นคนรักการอ่านมาก โชคดีคุณแม่ท่านเป็นคนรักการอ่านเหมือนกัน สมัยนั้นครูอายุสิบสอง สิบสาม คุณแม่มีหนังสือภาษาต่างประเทศแปลเป็นภาษาไทยมากมายเลยนะ “Gone with the wind” “Shakespeare” ครูก็นั่งอ่าน อ่าน อ่าน ชอบเพลงคลาสสิค ชอบประวัตินักดนตรี ไปซื้อแผ่นเสียงอันเบ้อเริ่มเทิ่ม ไปหาซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงเอามานั่งฟัง ก็เพราะครูเป็นคนชอบทางด้านนี้ แต่เรื่องการเรียนในโรงเรียนก็ไล่เลี่ย จะตกมิตกแหล่ตลอด

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

คุณครูศิริพันธุ์ สีซอสามสาย

ออกงานถ่ายรายการโทรทัศน์ ร่วมกับวงดนตรีไทย โรงเรียนสตรีวิทยา

 

     ช่วงเวลาที่คุณครูเรียนอยู่ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ในตอนเย็นหลังจากที่เลิกเรียนวิชาสามัญแล้วนั้น คุณครูก็จะรีบวิ่งขึ้นไปที่ห้องดนตรีไทย ที่อยู่บริเวณชั้น ๖ ของอาคารเรียนเพื่อซ้อมดนตรีไทยร่วมกับเพื่อน ๆ ในวงดนตรี เพื่อน ๆ ทุกคนก็มีความน่ารักกับคุณครูทั้งเวลาที่ซ้อมดนตรีไทยด้วยกันหรือแม้กระทั่งเวลาไปบรรเลงดนตรีไทยออกงานภายนอกโรงเรียนด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากช่วงเวลาหนึ่งของคุณครู

    

ด้วยความที่คุณครูเป็นผู้มีความรักในศิลปะ และศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่คุณครูมีความชื่นชอบและให้ความสนใจมากนั่นก็คือ การวาดรูป คุณครูมีความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาทางด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงเวลาระหว่างที่เตรียมตัวสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา คุณครูได้เข้าไปฝึกมือเพื่อทักษะในการวาดภาพที่สถานศึกษาแห่งนี้ ในยุคสมัยนั้นมีศิลปินผู้สร้างงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมากมายที่คุณครูชื่นชอบ อาทิเช่น อาจารย์ถวัล ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ศิลปินผู้มีความสามารถเป็นเลิศทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรม อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) อาจารย์สุวรรณี สุคนเที่ยง นามปากกา “สุวรรณี สุคนธา” นักเขียนวรรณกรรมชื่อดังเรื่อง “พระจันทร์สีน้ำเงิน” ที่นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์จนโด่งดัง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “น้ำพุ” คุณครูมีความสุขมากในช่วงนั้น ได้ไปฝึกวาดรูป ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณครูบรรยายว่า

นอกจากการร้องเพลง อ่านหนังสือ ฟังดนตรีคลาสสิคแล้ว ครูก็ชอบวาดรูป ครูชอบเข้าไปอยู่ในสังคมของอาร์ทติส ศิลปินดัง ๆ ทั้งหลายในยุคนั้น แบบว่ามีความสุขเลย ไปอยู่ศิลปากร ไปฝึกมือ ได้รู้จักคนเยอะมาก ชีวิตตอนนั้นมีความสุขมาก อยู่กับพวกอาร์ทติส ก็อยากไปเป็นอาร์ทติสมั่ง อยากจะเป็นอาร์ทติสแบบที่เรียกว่า หลุดไปเลย เป็นแบบฮิปปี้พวกบุปผาชน พวกเค้าก็ต้อนรับครูอย่างดีเลย อาจารย์ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ก็เขียนรูปครูไว้ อาจารย์อวบ สาณะเสน ก็เขียนรูปครูและสอนไวโอลินครูด้วยนะ มีความสุขมากเลยชีวิตช่วงนั้น ครูก็ฝึกมือ พอฝึกมือเสร็จ ครูก็ไปสอบเข้านะ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีเรื่องเล่านิดนึง แต่ทุกท่านที่ได้เล่ามา ล่วงลับไปหมดแล้ว สมัยนั้นก็พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เค้ามีให้เลือก อันดับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ตามสมัยนิยมผู้หญิงทุกคน ลูกสาวไทย ทุกบ้านก็ต้องเรียนอักษรศาสตร์ เลือกหนึ่งแล้วนะ จุฬาฯ อักษรศาสตร์ จะเก๋สุดละ อันดับที่สองครูไปเลือก รัฐศาสตร์ อันดับสามครูก็ไปสอบเข้าศิลปากร ก่อนไปสอบเข้าครูก็มีความสุขมาก ไปฝึกมือก่อนสอบเข้าศิลปากร เสร็จแล้วปรากฏว่าพอประกาศผลสอบ ที่บ้านครูพี่ชายคนโตเรียนอยู่ที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนกับคุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว แต่ตอนนั้นเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ด้วยกัน คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นคนตรวจข้อสอบมหาวิทยาลัยตอนช่วงนั้น คุณสมัครมาหาพี่ชายที่บ้าน แล้วบอกว่า เฮ้ย ! เนี่ยน้องสาวสอบเข้าได้นะ ศิลปากร โอ้โหย…ครูมีความสุขมากเลยนะ ดีใจมาก สอบเข้าศิลปากรได้ ดีใจรีบไปบอกคุณแม่ไปตัดเสื้อได้แล้ว ไปเร็วไปตัดเสื้อกัน พอถึงวันไปดูประกาศ มหาวิทยาลัยก็จะมีติดประกาศรายชื่อ ก็ไปดูเพื่อความแน่ใจ ปรากฏว่าไม่มีชื่อ ครูก็คิดว่าทำไมไม่มีชื่อ คืองงที่สุดในชีวิต ตอนนั้นคืองงมาก ปรากฏว่าทำไมรู้มั้ย คุณสมัครบอกว่าติด แต่เค้าคัดออก เพราะคุณไม่ได้สมัครในอันดับหนึ่ง คุณไปเลือกตั้งอันดับสาม เค้าก็เลยต้องคัดคุณออก แล้วเอาคนที่ได้คะแนนเท่ากันแต่เลือกอันดับที่หนึ่งเข้าแทน

     คุณครูบรรยายถึงบรรยากาศของความผิดหวังว่าวันนั้น เป็นวันที่คุณครูนั่งรถเมล์ขาวโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นรถเมล์สายอะไร คุณครูนั่งไปคนเดียวทั่วเมือง นั่งอยู่คนเดียวบนรถเมล์ขาว นั่งไปเรื่อย ๆ จนสุดปลายทาง กระเป๋ารถเมล์ถามว่าจะไปไหนคุณครูก็ไม่ตอบ นั่งร้องไห้อยู่คนเดียวบนรถเมล์ตลอดทาง ตอนขึ้นรถเมล์คุณครูก็ได้บอกกับตัวคุณครูเองว่า วันนี้จะไม่กลับบ้านแล้ว

     เหตุการณ์ในวันนั้น ในเมื่อคุณครูพลาดหวังสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการไม่เลยสักแห่งเดียว จึงเป็นเหตุให้ตัวคุณครูเองในขณะนั้นมีความรู้สึกเคว้งคว้างเป็นอย่างมาก แต่แล้วในที่สุด คุณครูก็คิดได้ว่า ชีวิตไม่ใช่แค่นั้น ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ และในตอนนั้นเอง คุณครูก็ได้รับโอกาสในการเริ่มต้นทำงานกับสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๔ บางขุนพรหม ด้วยความที่มีพื้นฐานจิตใจที่รักในศิลปะและดนตรี ในระหว่างที่ทำงานประจำคุณครูก็ยังไปเรียนร้องเพลง ไปเรียนเปียโน ไปเรียนภาษาฝรั่งเศส เรียนภาษาเยอรมัน จนในที่สุด ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ คุณครูก็สอบได้ทุนไปเรียนต่อเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน ที่ประเทศเยอรมนี คุณครูเล่าว่า

ครูได้ทุนจากสถาบันเกอเธ่ Goethe Institute ไปเรียนเป็นครูภาษาเยอรมัน ที่ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา ๒ ปี เมื่อสองวันที่ผ่านมา Director ของทางสถาบันที่เยอรมันก็เพิ่งมาเยี่ยมครู ท่านอายุเก้าสิบละ มานั่งคุยกับครูที่ร้าน เกอเธ่ เป็น Cultural Institute สถาบันทางวัฒนธรรมเยอรมัน ในประเทศไทย ครูไปทำกิจกรรมหลายอย่างที่นั่น ไปร้องเพลง ไปสีซอ รวมถึงไปเรียนภาษาเยอรมัน จนทางสถาบันให้ทุนครูไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน ครูจะขอพูดถึงบุคคลท่านนึง คือ หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา เป็นชายาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์  และท่านแม่ของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมดุษฎีท่านมีโรงเรียนอนุบาลชื่อ โรงเรียนสมประสงค์ หม่อมดุษฎี ท่านมีความเมตตาครูเป็นอย่างมาก ท่านรู้ว่าครูเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียน ชอบแสวงหาความรู้ ท่านก็ได้แนะนำให้ครูไปที่สถาบันเกอเธ่ ไปเรียนไปทำกิจกรรมที่นั่นจนกระทั่งครูได้ทุนไปเรียนที่เยอรมัน

    

     ภายหลังจากที่คุณครูเรียนจบหลักสูตรการสอนภาษาเยอรมัน คุณครูได้ไปแสดงความสามารถทางการขับร้องเพลงภาษาเยอรมันเพื่อสอบชิงทุน และได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อทางด้านศิลปะดนตรีและการขับร้องที่สถาบันดนตรี Richard Strauss Conservatory โดยในภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๕๑ สถาบันดนตรีแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ University of Music and Performing Arts Munich มหาวิทยาลัยทางดนตรีและศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงประจำเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ในปัจจุบัน

     คุณครูได้รับทุนการศึกษาต่อด้านการขับร้องเพลงคลาสสิคเยอรมันและเรียนเปียโนกับทางสถาบันแห่งนี้ การที่ได้เรียนได้ศึกษาความรู้ทางด้านศิลปะที่คุณครูมีความชื่นชอบเป็นทุนอยู่แล้วนั้น ได้มอบประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีความสุขแก่คูณครู คุณครูเล่าประสบการณ์เล็ก ๆ แต่เป็นประสบการณ์ที่มีค่าว่า

ในช่วงที่คุณครูใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ตอนนั้นเป็นนักเรียน ครูได้ทุนก็จริง แต่ในช่วงหน้าร้อน ครูก็ทำงานหาเงิน ภาษาก็ยังไม่ค่อยได้ ครูไปทำงานที่ร้านดอกไม้ เป็นร้านขายดอกไม้ในเมืองมิวนิค ครูไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับดอกไม้เลย แล้ววันนึงเจ้าของร้านดอกไม้ไม่อยู่ ได้มีคนโทรมาสั่งดอกไม้ นึกภาพออกใช่มั้ย ครูก็พยายามเต็มที่แล้ว พยายามเต็มที่แต่ก็ยังไม่รู้เรื่อง ครูก็เงอะงะเงอะงะ แล้วก็รู้สึกแย่มาก พอเจ้าของร้านกลับมาก็มีคนโทรศัพท์มาคอมเพลน โทรมาต่อว่า ว่าพนักงานร้านคุณพูดไม่รู้เรื่องเลย จะสั่งดอกไม้ก็สั่งไม่ได้ ลูกค้าคนนั้นอารมณ์หงุดหงิดมาก โมโหมาก ครูก็ได้แต่พูดขอโทษกับเจ้าของร้าน แต่พอวันรุ่งขึ้นก็มีผู้หญิงวัยกลางคนท่านหนึ่งเดินเข้ามาในร้านดอกไม้ ผู้หญิงคนนั้นมาหาและเอาของขวัญมาให้ครู ซึ้งมะ เค้ามาขอโทษครู เค้าไม่รู้ว่าครูเป็นเด็กนักเรียนเป็นคนต่างชาติที่มาทำงานที่ร้าน เจ้าของร้านก็ได้อธิบายให้ลูกค้าคนนั้นฟังว่าครูเป็นเด็กนักเรียนเอเชียมาจากไทยแลนด์ ซึ่งในตอนนั้นครูไปไหนมาไหน ถ้าบอกใครว่ามาจากประเทศไทย ไม่มีใครรู้จักหรอกประเทศไทย เค้ายังคิดว่ามีช้างเดินอยู่บนถนนอยู่เลย และเหตุการณ์ในวันนั้นถ้าเป็นในสมัยนี้ อาจจะร้ายถึงขั้นโดนต่อว่าแล้วก็โดนไล่ออกจากงาน แล้วช่วงนั้นคนเยอรมันหลังสงครามโลก เค้า Suffer กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขนาดไหน

        จากประสบการณ์ชีวิตในครั้งนี้ ทำให้คุณครูเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ มองโลกด้วยการวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยหลักความเข้าใจและไม่ตัดสินผู้อื่น วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันสูงขึ้น แต่วิวัฒนาการทางด้านมนุษยธรรมกลับเสื่อมถอยลง เหล่านี้คือข้อคิดดีดีที่คุณครูได้ฝากไว้ อีกทั้งคุณครูยังได้ถามคำถามทิ้งท้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ได้ฉุกคิดว่า “ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวที่ครูเล่ามานั้น เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน จะมีผลลัพธ์เป็นเช่นไร ให้เราลองคิดดู…”

 

การศึกษาดนตรี

     คุณครูศิริพันธุ์ เริ่มเรียนวิชาซอสามสายโดยตรงกับพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เจ้าคุณตาเมื่ออายุได้เพียง ๙ ขวบ โดยที่คุณพ่อของคุณครูเป็นผู้คอยดูแลขับรถรับส่งลูกสาวคนเล็กไปเรียนวิชาซอสามสายเป็นประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ที่บ้านในซอยวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในด้านดนตรีไทยนั้นคุณครูศิริพันธุ์ได้ศึกษาการบรรเลงเครื่องดนตรีซอสามสายเพียงเครื่องเดียวโดยเฉพาะ นับได้ว่าคุณครูศิริพันธุ์คือลูกศิษย์สายแรกที่มีอายุน้อยที่สุดและผู้ที่มีความใกล้ชิดกับครูพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) มากที่สุดคนนึงเลยก็ว่าได้ คุณครูได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นที่คุณครูได้เริ่มต้นเรียนวิชาซอสามสายกับเจ้าคุณตาว่า  

ซอสามสาย

ระเบียงบ้านพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ที่ใช้สอนดนตรีหลานสาวและลูกศิษย์

ก็เรียนกับท่าน ครูมีครูคนเดียว ในชีวิตมีครูสอนดนตรีไทยเดิมคนเดียว และครูก็ไม่ได้เล่นอะไรอย่างอื่นในสายของดนตรีไทย ซอสามสายอย่างเดียว คืออย่างนี้ จริง ๆ แล้วท่านเจ้าคุณท่านไม่เคยสอนเด็กนะ แล้วครูก็เป็นอะไรที่แบบเซอร์ไพรส์สุด ๆ เลยเหมือนกันนะครูว่า ครูคิดว่าผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ คงเห็นแวว คือไม่ใช่เรื่องยากลำบากในการสอนครู ครูรู้สึกว่าไม่ยากลำบาก จำไม่ได้แล้วว่ายากตรงไหน อาจเป็นเพราะอายุน้อยก็ได้ เก้าขวบ คืออายุซักประมาณ ๑๐ ขวบ ครูก็ไปเดี่ยวซอพญาโศกได้ ทำอะไรได้เยอะแยะเลย แล้วก็หนึ่งการที่เป็นหลานท่านเจ้าคุณ สองเป็นเด็ก แล้วเล่นได้ในระดับนั้น คือทำให้เกิดความรู้สึกว่าเด็กคนนี้มีพรสวรรค์ ทีนี้ก็ไปเรื่อยเลย ครูก็ได้ไปเล่นตามงานต่าง ๆ จนในที่สุดครูก็ได้ไปออกทีวีอะไรกันไปในช่วงนั้น

 

ซอสามสาย

พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)

 

เพลงที่เรียนมีเยอะมาก ซึ่งตอนนี้อายุขนาดนี้ รู้สึกเสียดายนะ สมัยนั้นไม่มีโน้ต ไม่มีการเขียนโน้ตใด ๆ ทั้งสิ้นเลยนะในการเรียนดนตรีไทยเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัว ๑ ๒ ๓ ๔ หรือ โด่ เร มี อะไรก็ไม่มีเลย จำอย่างเดียว ครูทันนะโน้ตดุริยะบรรณ ๑ ๒ ๓ ๔ แต่ท่านเจ้าคุณท่านก็ไม่ได้เน้นให้ครูเรียนตรงนั้นนะ แล้วแปลกนะ สมองคนเราจำอะไรได้เยอะแยะ แต่ขอโทษเพลงสามชั้นนี่ลืมไปเยอะแล้ว

ท่านเจ้าคุณต่อให้ตั้งแต่เพลงเบสิก ขับไม้บัณเฑาะว์ แล้วก็เพลง ต้นเพลงฉิ่ง จำพวกเพลงเขมร เขมรปี่แก้ว เพลงสุรินทราหู เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เพลงทะแย พญาครวญ แสนเสนาะ อะไรอีกเยอะแยะไปหมด จากนั้นก็ขึ้นมาถึง เพลงเดี่ยว เพลงเดี่ยวพญาโศก ทยอยเดี่ยว เชิดนอก กราวใน แล้วก็พวกเพลงเดี่ยวสามชั้นอื่น ๆ อย่างเพลง หกบท นกขมิ้น เพลงเดี่ยวสามชั้นง่าย ๆ ที่เราต้องไต่ระดับความยากขึ้นไป ตามความสามารถของนักดนตรี จนถึงเพลงเดี่ยวใหญ่ ๆ ลาวแพน เชิดนอก เชิดนอกนี่ก็เป็นเพลงยากเหมือนกันนะ

ซอสามสาย

เด็กหญิงศิริพันธุ์ ออกงานกับคุณตา พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)

 

คุณตากับหลานสาว

“ครูคิดว่าตนเองเป็นคนที่โชคดีมาก ที่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีพื้นฐานทางดนตรีไทย และมีโอกาสได้เล่าเรียนซอสามสายกับเจ้าคุณตา พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ครูผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีไทยโดยเฉพาะ ร่วมถึงได้รับโอกาสอันดีได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีไทยนี้ตามรายการต่าง ๆ มากมายในโทรทัศน์ ทำให้ครูเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ในสมัยนั้นมีทีวีอยู่ช่องเดียว สังคมแคบ การที่มีสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียวนั้น ผู้คนเป็นที่รู้จักกันได้ง่าย จึงทำให้ครูได้รับชื่อเสียงที่มีมาได้โดยง่าย ซึ่งตัวครูเองก็รู้สึกขอบคุณในความโชคดีที่ได้รับโอกาสในชีวิตเช่นนี้…”

                                                     ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

                                                     ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

 

ซอสามสาย

    คุณครูศิริพันธุ์กำลังบรรเลงเดี่ยวซอสามสาย

      นอกจากการเรียนซอสามสายแล้ว คุณครูศิริพันธุ์ก็ได้เรียนขับร้องสากล เรียนเปียโน และเรียนไวโอลิน โดยเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๔ – ๑๖ ปี คุณครูศิริพันธุ์ได้เริ่มเรียนฝึกหัดขับร้องคลาสสิกสากล กับ Mr. Malcolm Hossick ครูสอนร้องเพลงคลาสสิคชาวสก๊อตแลนด์ ได้เริ่มเรียนไวโอลินกับ อาจารย์นพ โสตถิพันธ์ และอาจารย์อวบ สาณะเสน และเรียนเปียโน กับ ดร. สายสุรี จุติกุล

     คุณครูศิริพันธุ์ ได้เล่าย้อนถึงเรื่องราวในอดีต สมัยที่คุณครูได้สีซอสามสายร่วมวงดนตรีไทยประจำโรงเรียนสตรีวิทยาว่า

เพลงที่เรียนกับท่านเจ้าคุณก็เป็นเพลงที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ แต่พอไปเล่นในวงก็จะไม่ใช้เพลงจำพวกนั้น ก็จะมีบางเพลงเท่านั้นเอง เช่น เต่ากินผักบุ้งและพวกเพลงพื้น ๆ แล้วก็มีเพลงมากไปกว่านั้นซึ่งครูเล่นไม่เป็น จะมาให้ครูเล่นคนเดียวครูเล่นไม่ได้ แต่เอาเป็นว่าครูก็จะตาม ๆ เค้าไป และโชคดีที่ซอสามสายเป็นซอที่เสียงไม่ดัง ไม่เหมือนซอด้วง ซออู้ อาศัยว่าเราทำท่าดีนั่งอยู่ข้างหน้าซอสวย แต่ว่าอันที่ได้เป็นเนื้อเป็นหนังหน่อยก็คือ การคลอร้อง หรือรับดอก ได้เป็นหน้าเป็นตาของวง แต่พอถึงทางเก็บก็ไม่รู้เรื่องละสีตาม ๆ กันไป แต่ก็สนุกดี แล้วจำได้ก็มีเพลงตับนก คุณหญิงไพฑูรย์ชอบนักแหละ เพราะเวลาไปออกงาน ดนตรีไทยไม่ค่อยมีใครฟัง ที่โรงเรียนสวนกุหลาบพวกนักเรียนชายก็แซวว่าสีซอให้ควายฟังบ้าง แต่เพลงตับนกนี่ครูจำได้ อย่างน้อยก็เป็นเพลงที่เตะหูคนฟัง เสียงนกโพระดก มันร้องโฮกโป๊ก โฮกโป๊ก อยู่หนไหน มีการเป่าเลียนเสียงนกเป็นแสงสีเป็นสีสัน ทำให้คนหันมาฟังดนตรีไทยเยอะเลยนะ เพลงเขมรไทรโยค เสียงนกยูงร้อง ดังกอก กอก กอกกอก กระโต้งโฮง ที่ครูพูดให้ฟังคือยุคสมัยนั้น อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกสนใจ น่าสนใจได้ พอยุคสมัยเปลี่ยนไปวิวัฒนาการต่าง ๆ ในโลกก็เริ่มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในดนตรีก็เหมือนกันจะต้องมีความรุนแรงไม่งั้นคนไม่ฟัง อันนี้คือครูเปรียบเทียบให้ฟัง ว่าอะไรที่น้อยนิดแต่มีความหมายมากสำหรับในยุคนั้น นั่นคือความสุขของชีวิตคนในสมัยนั้น

 

ชีวิตการทำงาน

     หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณครูศิริพันธุ์ ได้ร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ในตำแหน่งผู้ประกาศของทางสถานี โดยการชักนำจาก คุณจำนงค์ รังสิกุล ผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ คุณครูเล่าว่า

ตอนนั้นครูก็ไปเป็นผู้ประกาศ ก็ออกมาประกาศ สวัสดีค่ะ ท่านผู้ชม…. ทีวีสมัยนั้นเป็นทีวีขาวดำ แล้วก็ไม่ได้เปิด ๒๔ ชั่วโมงแบบทุกวันนี้นะ พอ ๖ โมงเย็นปั๊บถึงจะได้ดู เปิดถึงประมาณ ๓ ทุ่ม ถ้าครูจำไม่ผิด เราเกิดทันมะ ไม่ทันหรอกมั้ง สมัยนั้นไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะมีทีวีนะจะบอกให้ หรูแล้วนะมีทีวี พอหกโมงเย็นจะมีเสียง เพลงต้นวรเชษฐ์ และรูปนางเมฆลา เป็นสัญญาณว่ามาแล้วทีวีมาแล้ว ในสมัยนั้นมีทีวีอยู่ช่องเดียวช่อง ๔ ครูก็มีเวรเป็นคนคอยประกาศว่าพอจบจากรายการนี้จะมีรายอะไรต่อไป รายการเพลินเพลงกับนฤพนธ์ มีคุณนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ครูก็จะสีซอสามสาย ส่วนใหญ่ครูก็จะได้สีซอกับวงดุริยประณีต แต่ครูไม่ได้เล่นละครนะ เพราะคุณพ่อไม่ให้เล่น

ซอสามสาย

ตราประจำสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

จากซ้ายไปขวา ๑. สมจินต์ ธรรมทัต, ๒. สินีนาฏ โพธิเวส, ๓. สัมพันธ์ พันธ์ุมณี

๔. ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ๕. อารีย์ (นักดนตรี) จันเกษม, ๖. จำนงค์ รังสิกุล

     คุณครูเคยให้สัมภาษณ์กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ในงานเชิดชูเกียรติ ๑๐๐ ปี พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ถึงเรื่องราวในครั้งที่คุณครูเคยได้ร่วมงานกับทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๔ บางขุนพรหม ไว้ว่า

ตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ สมัยนั้นการที่ผู้หญิงจะไปออกโทรทัศน์ จะไปทำงานสถานีโทรทัศน์ ไปเป็นผู้ประกาศ สำหรับตระกูลเรา ครอบครัวเราซึ่งค่อนข้างจะเป็นไทยและ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ คุณพ่อ คุณแม่ ก็ไม่อยากให้ไป พี่ ๆ ทุกคนก็ไม่อยากให้ไปทำงานทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปประกาศข่าว เลยต้องมีการข้อเป็นกรณีพิเศษว่า ทำได้ แต่ในฐานะผู้ประกาศอย่างเดียวนะ แล้วก็เล่นซอและดนตรีอย่างเดียว ห้ามเล่นละครเด็ดขาด เพราะว่าเล่นละครก็ไม่ได้ ขนาดตอนนั้นรายการเพลินเพลงกับนฤพนธ์ หัวหน้าจำนงค์ ท่านเป็นคนที่ทันสมัย ท่านทำรายการโทรทัศน์มีทั้งความสวยงาม มี Creative Idea ท่านก็จับคุณนฤพนธ์แต่งไทยมานั่งเกาะอยู่ที่ตั่ง ร้องเพลงกึ่งแสดงมองทำตาหวาน ส่วนครูสีซอสามสายเพลงเขมรปี่แก้ว จำได้เลยคืนนั้นกลับมาบ้าน คุณพ่อยืนอยู่ แล้วพูดว่า แหม สมบทสมบาทดีจังเลยนะ

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

รายการ “เพลินเพลงกับนฤพนธ์” ทางไทยทีวีช่อง ๔ นักดนตรีไทยวัยรุ่นคู่ดัง

คุณนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ขับร้องเพลงพญาโศก ให้คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เดี่ยวซอสามสาย

        ในช่วงเวลาระยะเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่ทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง ๔ บางขุนพรหม คุณครูศิริพันธุ์ได้ทำอะไรหลายอย่าง ทั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประกาศ บรรเลงดนตรีไทยกับวงดุริยประณีต เดี่ยวซอสามสายในรายการเพลินเพลงกับนฤพนธ์ ในตอนนั้นเองสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ ได้ผลิตวิดีโอเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเข้าประกวดงานศิลปวัฒนธรรมนานาชาติของสถานีโทรทัศน์ เมืองบัฟฟาโล่ (Buffalo) รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคุณครูได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนั้น การบรรเลงเดี่ยวซอสามสาย เพลงพญาโศก คุณครูเล่าถึงการประกวดในครั้งนั้นว่า

ตอนนั้นทีวีช่อง ๔ ส่งวีดีโอเทป ซึ่งสมัยนั้นก็โก้มากเลยนะ วีดีโอเทปใหญ่ๆ อัดรายการในห้องส่งของทางสถานีส่งไปประกวดที่เมืองบัฟฟาโล่ (Buffalo) รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายการประกวดศิลปะและดนตรีนานาชาติ ครูจำได้ ตอนนั้นคุณจำนงค์ รังสิกุล เป็นผู้อำนวยการ หัวหน้าจำนงค์ท่านได้จัดส่ง ๒ โปรแกรมไปประกวดในรายการ อันหนึ่งคือ เต้นกำรำเคียว รู้จักมั้ย เต้นกำรำเคียว ที่ร้องว่า “มากันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่มามารึมา แม่มา….” ก็มีจับคู่ดาราทั้งหมดเลยนะ รอง เค้ามูลคดี, ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, นันทวัน เมฆใหญ่ หลายคนเลย ครูจับคู่กับใครไม่รู้จำไม่ได้ มาเป็นคู่ใส่หมวกงอบชาวนา มือซ้ายถือรวงข้าว มือขวาถือเคียว แล้วก็รำเต้นกำรำเคียว สนุกมากเลยนะสมัยก่อน อันนี้คือเทปอันนึง ส่วนอีกอันนึงเนี่ยเป็น พญาโศก จัดฉากมีไฮไลท์แสงสีข้างหลัง ครูแต่งชุดไทยนั่งบนแท่น แล้วครูก็สีพญาโศก เพลงเนี้ยะ เสียดายที่เทปนั้นไม่มีแล้วไปไหนไม่รู้ แล้วเทปของครูก็ชนะเลิศ ได้รางวัลชนะเลิศ ดังมากเลยนะ ช่วงนั้นดังมาก พญาโศกชนะเลิศซอสามสาย

ซอสามสาย

คุณครูศิริพันธุ์ สวมชุดไทยสีซอสามสาย

ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง ๔ บางขุนพรหม

 

หลังจากได้รางวัลนั้นครูก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทูตวัฒนธรรม Ambassador of Goodview จัดโดยองค์กร USIS (United States Information Service) ครูได้เป็นทูตวัฒนธรรมไปอเมริกา ครูเอาซอสามสายไปด้วย ไปแสดง หลายเมืองเลย ไปที่เมือง Jamestown(Rhode Island), Vermont, Washington, D.C. มีความสุขมาก เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากเลยนะ

ซอสามสาย

คุณครูศิริพันธุ์ บรรเลงร่วมวงกับวงดุริยประณีต

        หลังจากการทำงานที่ช่อง ๔ บางขุนพรหม คุณครูก็ได้มีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายมากมาย คุณครูได้ทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งงานนิตยสารและหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษต่าง ๆ ได้เขียนบทความตีพิมพ์ลงในนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมายอยู่พักหนึ่ง จนภายหลังนั้นคุณครูก็ได้ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจรายการโทรทัศน์เป็นของตนเอง

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

คุณครูศิริพันธุ์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง เพลงประกอบรายการ “เป่ายิ้งฉุบ”

        คุณครูศิริพันธุ์เป็นผู้บุกเบิกรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในยุคแรก ๆ ได้แก่รายการ “เป่ายิ้งฉุบ” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ รายการ “จีจ่อเจี๊ยบ” ทางโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. รายการ “บุหลันลอยฟ้า” รายการวาไรตี้โชว์ที่มีทั้งการแสดงดนตรีไทยและดนตรีสากล ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ซึ่งคุณครูกล่าวว่ารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในฐานคนดู แต่ยังไม่เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจโทรทัศน์มากเท่าไรนัก คุณครูศิริพันธุ์ยังได้ทำรายการโทรทัศน์อีกมากมายหลายรายการ คุณครูเป็นผู้คิดค้นการจัดรายการโทรทัศน์นอกสถานที่ โดยในสมัยนั้นรายการทีวีส่วนใหญ่จะทำการถ่ายทอดสดและบันทึกเทปรายการอยู่ในห้องส่ง โรงถ่ายทำ หรือสตูดิโอของทางสถานีโทรทัศน์เท่านั้น นอกจากรายการโทรทัศน์แล้ว คุณครูยังได้เปิดบริษัทโฆษณาชื่อบริษัท โฟร์ สโคป เป็นบริษัทรับจ้างผลิตสื่อโฆษณา คุณครูยังเป็นผู้ริเริ่มการนำนักแสดงและบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ออกทัวร์ในการโปรโมทสินค้าต่าง ๆ และอ่านสปอตโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นคนแรกอีกด้วย คุณครูเล่าว่า

ครั้งแรกในประเทศไทยเลยนะ เอารถโมบาย รถถ่ายทอดคันใหญ่ ๆ ออกไปถ่ายทำนอกสถานที่ ตอนที่ทำให้กับช่อง ๕ ครูทำเยอะมาก ดึกดื่นยังอยู่ห้องตัดต่ออยู่เลย ทำทุกอย่าง ครูเห็นหมดเลยเพราะว่าครูอยู่ในทีวีช่อง ๔ ครูเห็นมาหมดว่าเค้าทำยังไง เวทีเค้าทำยังไง กล้อง ๑ กล้อง ๒ กำกับเวทีทำยังไง กำกับรายการทำยังไง ครูจะบอกอะไรให้ฟังนะ เดี๋ยวนี้นะไม่ได้ดีไปกว่าเมื่อก่อน ไม่ได้ดีไปกว่าเครื่องใช้ไม้สอยของทีมที่เรามีเมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมาแล้วเลย แล้วครูก็เปิดบริษัทโฆษณา บริษัท Four Scope บริษัทสี่จอ โอ้ยชีวิตชั้นเหนื่อยจริง ๆ เลยทำไมทำอะไรเยอะขนาดนี้ ครูเป็นเจ้าของบริษัทโฆษณา สิ่งที่ครูต้องทำคือครูเป็นตั้งแต่ account director ต้องวิ่งหาลูกค้า ครูมีแผนกอาร์ท ครูเป็น art director ทำ story board ครูต้องวิ่งไปหาลูกค้าธนาคารศรีนคร ครูมีลูกค้าบริษัทฮีโน่ ต้องวิ่งไปหาลูกค้าญี่ปุ่นที่หลักสี่ กะทิชาวเกาะนี่เป็นลูกค้าแรก ๆ คุณอำพลเจ้าของยังเป็นเด็กอยู่เลย เมื่อก่อนยังไม่มีใครรู้จัก เอากะทิมาใส่กล่อง เมื่อก่อนไม่มีนะเค้าคั้นเอา ครูเป็นคนเอากะทิใส่รถกระบะ ไปสุโขทัย มีดาราคือ รัชณู บุญชูดวง เป็นคนไปพรีเซ็น ครูไปกับคาราวานรถบรรทุกฮีโน่ ไปถ่ายทำหนังโฆษณาสนุกมาก ครูทำทั้งทีวี ทำทั้งโฆษณา อ้อแล้วครูเล่นละครวิทยุด้วยสมัยอยู่ช่องสี่ นั่งพูดกันอยู่ในห้องเล็ก ๆ มีเรื่องจากนวนิยายดัง ๆ เยอะแยะไปหมด เมื่อวานมีลูกค้ามาทานข้าวที่ร้าน บอกเป็นแฟนหนังที่ครูภาค ครูภาคหนังเรื่อง The Beverly Hillbillies เป็น Elly May Clampett ยัยบ้านนอกเข้าเมือง ครูทั้งภาคหนัง ทั้งแปลบทหนังด้วยนะ จบมอแปด เค้าให้ครูภาคหนัง ครูอยู่แผนกต่างประเทศ ตลกดี จบมอแปดพูดภาษาอังกฤษได้แล้ว แปลบทหนังได้แล้ว ถึงไหนแล้วล่ะตอนนี้ โอเคมาถึงโฆษณา โฆษณาก็จะมีทั้งทางโทรทัศน์ที่เป็นวีดีโอ เป็นหนังและโฆษณาทางวิทยุ สปอตโฆษณา ถ้านึกถึงทีวีช่อง ๔ ในสมัยนั้น ทีวีขาวดำจะเชยมาก อย่าง ยาหมอมี หรือว่า โดนัลดั๊ก หรือโฆษณา ยาสีฟันไอปานา สปอตโฆษณาทางทีวีก็จะมีคนมายืนพูดสด มีคุณเทิ่ง สติเฟื่อง ที่มายืนพูดสดแล้วมีคนถือป้ายโฆษณา ครูเลยมาคิดว่าโฆษณาทำไมไม่ทำให้มี wording ที่น่าสนใจ แทนที่จะมาบอกโท่ง ๆ ว่า ดื่มนมตราหมีดีอย่างนี้ ก็เลยจัดให้มีการสนทนา มี conversation แล้วครูก็เขียนบทขึ้นมา คนแรกของประเทศไทยเลยที่ครูเอามาพูดสปอตคือ คุณพฤทธิ์ อุปถัมภานนท์ คุณพฤตธิ์ เสียงเค้านุ่มมีโทนนิ่ง ตอนนั้นดังเลย คุณพฤติ์ เลยยึดอาชีพอ่านสปอตโฆษณา เมื่อก่อนเค้าเป็นผู้ประกาศข่าว มีหลายอย่างเลยนะที่ครูบุกเบิกขึ้นมา ไม่มีใครรู้ พอตอนหลังคนก็ทำกันต่อ ๆ ไป และนี่ก็คืองานที่ครูทำเยอะแยะเลยที่เล่าไป

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

รูปถ่าย Portrait คุณครูศิริพันธุ์ ประมาณปี ๒๕๐๖

 

ชีวิตครอบครัว

        ด้านชีวิตครอบครัว คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ได้มีช่วงหนึ่งของชีวิตในแบบครอบครัวเป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คุณครูได้บรรยายถึงช่วงหนึ่งของชีวิตในครั้งนั้นให้ฟังว่า

ในช่วงแรก ๆ การใช้ชีวิตก็มีความลำบากต้องปรับตัวอยู่ในเมืองโตเกียว อยู่ที่ญี่ปุ่นครูเป็นคนที่อยู่นิ่งไม่ได้ เป็นคน super hyperactive ครูอยู่ญี่ปุ่นก็เลี้ยงลูก แล้วก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยทาคุโยะกุไดอากุ ที่โตเกียว ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นมหาวิทยาลัย Nationalist ผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิง นักศึกษาทุกคนจะใส่ยูนิฟอร์มที่เป็นญี่ปุ่น ใส่รองเท้าเกี๊ยะ ปีนึงเค้าก็จะมีการแสดงของนักศึกษา ครูก็ได้ขึ้นไปร้องเพลงภาษาญี่ปุ่น แล้วครูก็ชอบการแสดงของญี่ปุ่น ราคุโกะ การแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่น คล้าย ๆ เดี่ยวไมโครโฟนของบ้านเรา ครูไปเล่นสกีบ่อยมาก พอเลิกเรียน ครูก็จะสอนภาษาอังกฤษกับภาษาเยอรมันอยู่ที่บ้าน คือพูดง่าย ๆ คือ ชั้นต้องทำอะไรซักอย่าง แต่ครอบครัวเค้าใจกว้าง ให้ครูไปเรียนชงชา ให้ครูไปเรียนจัดดอกไม้ญี่ปุ่น ikebana เวลา ๗ ปีที่อยู่ ญี่ปุ่น ครูมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ชีวิตยังมีอะไรให้ต้องทำ มันยังไม่พอ ยังไม่จบ แต่ถ้าหลังจากนั้นครูใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่น ครูก็คงแก่แล้วก็ตาย ลูก ๆ ก็โต ตอนนั้นครูอายุ ๓๐ ถ้าจะให้ครูอยู่บ้าน เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ดูลูกโต ทุกวันนี้ครูก็มีความรู้สึกว่าครูไม่อยากใช้ชีวิตแบบนั้น ชีวิตจะจบแค่นั้นเหรอ ทุกวันนี้ครูก็ยังขับรถออกจากบ้านมาทำงานได้เหมือนคนปกติ ครูก็ทำได้ ขอโทษนะ ตั้งแต่ สากกะเบือยันเรือรบ ครูอยู่ญี่ปุ่นก็เรียนอาหารญี่ปุ่น อยู่เยอรมันครูก็ศึกษาอาหารเยอรมัน คืออยู่ว่างไม่ได้ นอนคือเวลาที่ครูไม่ได้ทำอะไร หลังจากนั้นครูก็กลับเมืองไทยทำนู่นนี่นั่น ที่เล่าให้ฟังหลายต่อหลายอย่างในชีวิตการทำงาน

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

คุณครูศิริพันธุ์ สีซอสามสาย หน้าปกนิตยสาร เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๐

ผลงานทางด้านดนตรี

        คุณครูศิริพันธุ์ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการการประกวดเดี่ยวซอสามสาย รายการประลองเพลงประเลงมโหรี ของทางศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัดมหาชน ได้รับเชิญจากคุณอารีย์ นักดนตรี ให้ขึ้นบรรเลงเดี่ยวซอสามสายและร้องเพลงตามงานลำรึกต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการบรรเลงซอสามสายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ บรรเลงเดี่ยวซอสามสายเพลงเชิดนอกและเพลงพญาโศก สามชั้น ในงานเชิดชูเกียรติ ๑๐๐ ปี พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เดี่ยวซอสามสายเพลงทยอยเดี่ยว งานเชิดชูเกียรติ ในวาระครบ ๑๒๐ ปี พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) และอีกหลากหลายเวทีที่คุณครูไม่เคยปฏิเสธที่จะขึ้นถ่ายทอดและแสดงความสามารถทางด้านซอสามสายที่คุณครูมีให้ได้รับชมและรับฟังด้วยความเต็มใจ ซึ่งรางวัลที่คุณครูได้รับ ก็คือ ความสุข จากการได้ให้ความสุขกับผู้ชม ผู้ฟัง รวมถึงตัวคุณครูเองก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้สีซอสามสาย เครื่องดนตรีไทยที่คุณครูมีความชำนาญ เป็นศิลปะอีกแขนงที่คุณครูรัก

ซอสามสาย

ภาพถ่ายคุณครูศิริพันธุ์ ในนิตยสาร เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๐

 

การสืบทอดและการถ่ายทอด

     คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ร่ำเรียนซอสามสายโดยตรงจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) คุณตาของคุณครูเมื่ออายุได้ ๙ ขวบ ได้รับการถ่ายทอดกลวิธีในการบรรเลงซอสามสาย โดยเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ ท่านั่ง การจับซอ กลวิธีต่าง ๆ ทั้งการใช้นิ้วและการใช้คันชัก คุณครูได้รับการถ่ายทอดเพลงที่ใช้บรรเลงซอสามสายตั้งแต่เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ จนถึงเพลงเดี่ยวขั้นสูง  คุณครูศิริพันธุ์เป็นผู้สืบทอดทางที่ใช้ในการบรรเลงเครื่องดนตรีซอสามสายโดยตรงจากท่านครูพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ผู้มีความเป็นเลิศทางด้านการบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดนี้ อายุได้เพียงแค่ ๑๑ ปี คุณครูศิริพันธุ์ก็สามารถบรรเลงเดี่ยวซอสามสายในเพลงพญาโศก สามชั้น รวมถึงเพลงเพลงเดี่ยวขั้นสูงอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ การที่คุณครูศิริพันธุ์ได้ร่ำเรียนวิชาโดยตรงจากท่านครูเพียงคนเดียวและเล่นเครื่องดนตรีซอสามสายเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะ ทำให้คุณครูศิริพันธุ์มีความโดดเด่นในการบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างเห็นได้ชัด กาลเวลาและประสบการณในชีวิตมากมายที่ผ่านมายิ่งทำให้การบรรเลงเพลงเดี่ยวซอสามสายของคุณครูสามารถเข้าถึงอารมณ์ ความหมาย การตีความในทำนองเพลงต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะเจาะชัดเจนและมีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังคงรูปแบบดั้งเดิมที่มีคุณค่าไว้ด้วย ดังคำกล่าวของอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า “ถ้าจะฟังดนตรีไทยสายนี้ของจริงของแท้ออริจินัลต้องศิริพันธุ์”

ซอสามสาย

คุณครูศิริพันธุ์ ขณะนั่งสอนซอสามสาย

     ด้านการถ่ายทอดวิชาซอสามสาย คุณครูศิริพันธุ์มีลูกศิษย์ที่ได้มาศึกษาการบรรเลงเครื่องดนตรีซอสามสายกับคุณครู ๒ คน ได้แก่ นายภีมข์ ศุภชลาศัย ปัจจุบันศึกษาอยู่ คณะครุศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คุณครูได้เล่าถึงความเป็นมาที่ได้การถ่ายทอดวิชาการบรรเลงซอสามสามให้แก่ลูกศิษย์ทั้งสองคนว่า

ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

คุณครูศิริพันธุ์และลูกศิษย์ทั้งสอง

ทางซ้าย อาจารย์สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ, ขวาสุด นายภีมข์ ศุภชลาศัย

 

ตอนนั้นภีมข์ อายุประมาณสิบสาม สิบสี่ปี ยังเด็กอยู่เลย ภีมข์เล่าให้ฟังว่า ภีมข์บอกกับคุณยายว่าภีมข์อยากเรียนซอสามสาย ภีมข์มีคนมาเข้าฝันว่าให้ไปเรียนซอสามสาย  ตอนนั้นภีมข์ยังเรียนอยู่จิตรลดา มอ. ๑ มอ. ๒ คุณยายต้อยคุณยายของภีมข์ พาภีมข์ไปที่เดอะมอลล์ มีโรงเรียนสอนดนตรีอยู่ที่เดอะมอลล์ อาจารย์ที่โรงเรียนสอนดนตรีก็ได้บอกว่าถ้าอยากเรียนซอสามสายก็ให้มาหาคุณครูศิริพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นครูไม่ได้รับสอนใครเลย แต่คุณครูรู้จักกับครอบครัวของคุณยายต้อย ครอบครัวเค้าสนิทกันมากับพี่ชายครู ภีมข์ก็เลยมาหา มากราบขอเรียน ครูก็สอนให้ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ครูก็สอนภีมข์ตั้งแต่ต้นเลย ภีมข์ก็มาเรียนจนกระทั่งตอนภีมข์ไปอัดเสียงออดิชั่นไปประกวด ครูก็ไปนั่งช่วยกำกับไปช่วยตลอด ครูสอนภีมข์หลายปีนะ หลายปีจนกระทั่งภีมข์ได้เพลง จนครั้งสุดท้ายก่อนจะเข้าเตรียมอุดม เค้ารับภีมข์เข้าเรียนเพราะซอสามสาย จนจบที่เตรียมอุดมไปเข้าเรียนที่จุฬาฯ แล้วก็มีอาจารย์ต้น เมื่อวันก่อนเค้ายังมาเลย อาจารย์ต้น สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ อาจารย์ต้นเค้ายังรู้จักอาจารย์ที่ปรึกษาของเอี่ยวเลย อาจารย์ขำคม ครูกำลังจะบอกอยู่เลยว่าคุณครูจะชวนมาทานข้าวครูจะนัดอาจารย์ต้น อาจารย์ขำคมและเอี่ยว ครูจะเลี้ยงข้าวแช่ ดีมะ ก็มีอาจารย์ต้นเค้าก็อยากมาเรียนซอสามสายกับครูมาก อาจารย์ต้นนี่เป็นคนแรกที่ไปหาครูถึงบ้านเลยนะ ครูก็ต่อนู่นต่อนี่ให้ ครูก็สอนให้  ใครมาหาครูก็สอนให้ มีบางคนมาต่อเนื่องยาว บางคนมาสองสามครั้งแล้วก็หายไป ครูไม่ได้เข้าไปคลุกคลีอยู่ในสังคมดนตรีไทยเท่าไหร่ ครูมีวิชาอยู่ตรงนี้แล้ว ใครมาเรียนอยากได้ความรู้ครูก็สอนให้

     คุณครูได้ให้แง่คิดเพิ่มเติมกับผู้วิจัยในเรื่องของการสืบทอดและการถ่ายทอดและเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กช่วงที่เล่นดนตรีไทยที่โรงเรียนสตรีวิทยาว่า

คืออย่างนี้ ถ้าเป็นธรรมเนียมฝรั่ง เค้าถือเป็นประเพณีเลยนะ คือคุณต้องมี Reference คือ การอ้างอิง การอ้างอิง ถือว่าเป็นมารยาท สมมุติว่าเราจะเขียนหนังสือแล้วเราไปเอาคำพูดจากหนังสือเล่มนี้มา สุดท้ายสุดจะมีเลย คุณเป็นนักเขียนชื่อนี้เรื่องนี้ แต่เสร็จแล้วคุณต้องเขียนอ้างอิงว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คุณไปเอามาจากที่ไหนบ้าง เห็นมั้ยบางเล่มเพียบเป็นร้อยเลยต้องมีการอ้างอิงเป็นมารยาทที่ต้องใส่ เช่นเดียวกัน แต่ว่าแนวเขียนเป็นของคุณนะ หนังสือเป็นของคุณแนวเขียนเป็นของคุณ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน คุณเป็นคนเล่น ดนตรีเสียงมันออกมาจากนิ้วของคุณ ออกมาจากซอของคุณ ออกมาจากจิตวิญญาณของคุณ สิ่งที่คุณทำได้คือ Reference ผมเรียนอันนี้กับคุณครูคนนี้ปีนั้น ๆ ครับหรือว่าในประวัติเราก็ต้องบอกว่าผมเรียนกับครูเฉลิมปีนี้ กับครูศิริพันธุ์ปี พ.ศ. นั้น และในอนาคตเอี่ยวจะไปเรียนกับใครเยอะแยะกับครูกี่คนก็เขียนไป มันไม่เจ็บไม่เสียหาย มันเป็นการให้เกียรติเล็ก ๆ ถูกมั้ย รู้จักอาจารย์เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล มั้ย ท่านเก่งมาก น้องชายของท่านคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ตอนนั้นครูยังเด็กมากตอนเรียนที่สตรีวิทยา ครูเทวาตอนนั้นท่านเป็นปรมาจารย์ซอสามสาย ได้ชื่อว่าเก่งมาก เก่งจริง ท่านสามารถที่จะเดี่ยวซอสามสายจนจบเพลง ทั้ง ๆ ที่อยู่ดูดีดีสายหนึ่งขาดไป ท่านทำได้  อยู่ดีดีจะเล่นซอสายขาด แสดงว่าท่านเป็น Genius มาก ครูยังเด็กอยู่เลยตอนนั้น มีอยู่วันนึงครูเทวาท่านมาถึง แม่อร ! ดุมาก แม่อร ! เล่นอันนั้นให้ฟังหน่อยได้มั้ย ครูก็ไม่รู้ว่าทำไมท่านถึงมาให้ครูเล่นให้ฟัง ครูเป็นเด็ก ครูก็เล่นไป แต่ตอนหลังครูก็มารู้ว่า คุณครูเทวาท่านเป็นคนที่หวงวิชามาก ท่านจะไม่ปล่อยมุขอะไร ดนตรีไทยคนสมัยโบราณเวลาเล่นจะกั๊กไม่ปล่อยหมด ครูก็ไม่กล้าพูดอะไรอยู่ดีดีท่านมาสั่งให้ครูเล่น    แล้วเวลาครูเล่นครูก็กั๊กไม่เป็นเพราะยังเด็กอยู่ เรากั๊กไม่เป็น ก็ไม่ทราบว่าท่านมีเจตนาอย่างไร

คุณครูเล่าให้ฟังพร้อมยกมือไหว้กล่าวขอขมาครูท่าน คุณครูเล่าถึงการสอนของคุณตา พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ว่า

มันต้องเดินนิ้ว ท่านสอนมาเลย ครูคิดเองไม่ได้ แต่ทีนี้ถ้าเราไม่ฝึกก็จะทำไม่ได้ ลีลาท่าทางทุกอย่างท่านสอน ท่านสอนหมด ท่านให้เหตุผลว่าทำไมด้วย ท่านให้เหตุผลว่าต้องพลิกหน้าซอ และสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยที่คนไม่ทำแล้วก็ทำไม่ได้แล้วไม่ไปถึงไหนก็คือคันชัก ซอสามสายสำคัญที่คันชัก ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง คันชักให้ชีวิตเลยนะ เสียงหนัก เสียงเบา เครื่องสายทุกอย่างสำคัญที่คันชัก String instruments เพราะว่าตอนแรก ๆ เราก็ไม่เข้าใจ ถ้าดูดีดี น้ำหนักคันชัก ทำให้เกิดเสียงเล็กก็ได้ เสียงใหญ่ก็ได้ เสียงเบา เสียงแผ่วก็ได้ คันชักบังคับได้หมด ท่านก็สอน ท่านสอนหมดว่าต้องการรูดนิ้ว ซอต้องมีองศานะ เป็นการช่วย ซอทับไหล่อย่าถือให้ซอทับไหล่ ทุกอย่างต้องฝึกฝน ต้องใช้เวลา

ซอสามสาย

ภาพคุณครูศิริพันธุ์ออกงานสีซอสามสายในวัยเด็ก

     การผจญภัยในชีวิตของ คุณครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา จากเด็กหญิงวัย ๙ ขวบ ที่มีคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้มีความรักในดนตรีไทย เป็นผู้จุดประกายเริ่มต้นชักนำเข้าสู่การร่ำเรียนวิชาซอสามสายจากคุณตาผู้มีชื่อเสียงและเป็นเอตทัคคะทางการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยชนิดนี้ ได้เดินตามคุณตาไปแสดงความสามารถในการเดี่ยวซอสามสายตามงานต่าง ๆ ด้วยวัยเพียงน้อยนิด จนเป็นที่รู้จักและโลดแล่นอยู่ในวงการทีวีไทยในยุคแรกด้วยชื่อเสียงเรียงนามที่รู้จักกันเป็นอย่างดีและผู้คนในสมัยนั้นต่างเรียกขานกันว่า “ศิริพันธุ์ซอสามสาย” กระทั่งเดินทางไปเรียนต่อ ไปหาประสบการณ์ทางด้านศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่ตนเองมีความชื่นชอบในต่างแดน แต่งงานมีครอบครัว มีประสบการณ์ในการทำงานต่าง ๆ มากมายหลากหลายสาขาอาชีพ เป็นทั้งนักคิดนักสร้างสรรค์ผลงาน ไม่เคยหยุดที่จะใฝ่หาความรู้ เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เส้นทางชีวิตของคุณครูยังไม่จบเพียงแค่นั้น ปัจจุบันคุณครูศิริพันธุ์ได้เปิดกิจการธุรกิจร้านอาหารตำรับไทยเดิม โดยใช้ชื่อร้านว่า ซอสามสาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดสูตรต่าง ๆ ในการทำอาหารแบบไทยแท้จากคุณแม่ของคุณครูเอง คุณครูเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้านอาหารซอสามสายนี้ว่า

อายุได้ประมาณ ๕๐ ปี มีคนยุให้ครูเปิดร้านอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูปฏิเสธมาตลอดเลยนะ เปิดร้านอาหาร สกปรก อะไรก็ไม่รู้เป็นสิ่งที่ไม่อยากทำเลย ตอนนั้นนะหนักมาก หนักและเหนื่อยมาก ต้องไปตลาดเป็น ต้องไปจ่ายตลาดเอง โอ้ยเยอะ ครูนึกถึงตอนนั้นนะ ถ้าเป็นตอนนี้ก็ไม่อยากทำแล้ว เคยได้ยินมั้ย เอเอ็มพีเอ็ม เหมือน เซเว่นอีเลฟเว่น มาจากอเมริกา ครูไปทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีบริษัทจากอเมริกามาร่วมลงทุนเปิดร้าน เอเอ็มพีเอ็ม ครูก็ไปอเมริกาไปอบรมดูงานว่า เอเอ็มพีเอ็ม ทำยังไง ได้กลับไปญี่ปุ่นอีกไปดูงาน ช่วงนั้นที่ว่าครูหายไป ก็ไม่ได้หายไปเลยซะทีเดียวนะ ก็ออกไปผจญภัยข้างนอกอีก ซึ่งเอเอ็มพีเอ็ม จะต่างจากเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะเอเอ็มพีเอ็มขายอาหาร ซึ่งครูได้อยู่ฝ่ายอาหาร ตั้งแต่นั้นเลยออกมาทางด้านอาหาร แต่พอดีเอเอ็มพีเอ็ม เจ๊ง เพราะนายทุนล้ม ครูออกมาก็เลยมาสู่ธุรกิจอาหารโดยไม่รู้สึกตัว ก็ไม่รู้สึกต่อต้านอีกต่อไปละ ครูไปทำแคนทีนให้บางกอกโพสต์อยู่ตั้งหลายปี ส่วนร้านนี้เปิดมาได้ ๒๕ ปีแล้ว ล้มลุกคลุกคลานอยู่ในห้างซีคอนสแควร์ พอดีขึ้นมาก็มี ไอเอ็มเอฟ อีก พอออกมาก็ไปเปิดร้านอยู่ซอยนู้นซอยนี้ ผจญมามากเลย จนในที่สุดครูก็ได้มาเปิดเป็น Catering โดยมีลูก ๆ ที่เป็นพนักงานมาช่วยกันทำ ก็เจริญดีนะ เจริญเติบโตดีมากเลย จะมาหยุดเจริญก็ตรงโควิดเนี่ยแหละ ครูก็คิดว่าไม่เป็นอะไร อดทนอีกซักหน่อย แล้วที่นี่ก็คือบ้านเก่าของแม่ที่ครูเติบโต ที่เนี่ยบริเวณนี้ บ้านหลังนี้ คุณแม่เสียแล้ว บ้านก็เป็นของพี่ชาย พี่ชายเลยให้มาเปิดเป็นร้านอาหาร จนถึงปัจจุบัน

ซอสามสาย

คุณครูศิริพันธุ์ กำลังเตรียม ข้าวแช่ เมนูขึ้นชื่อของร้านซอสามสาย

     ปัจจุบันนอกจากดูแลกิจการร้านอาหารและถ่ายทอดวิชาซอสามสายให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาแล้วนั้น คุณครูศิริพันธุ์ มีความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือซักเล่มหนึ่ง ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของคุณครูในสองแง่มุม คือที่บ้านคุณแม่กับบ้านคุณตาพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) โดยในหนังสือจะมีเนื้อหาที่โยงเรื่องความเป็นอยู่ที่บ้านและเวลาที่ไปเรียนซอสามสายกับเรื่องอาหารการกินเข้าด้วยกัน หนังสือที่คุณครูเขียนจะบอกเล่าถึงชีวิตของคุณครูที่เติบโตในบ้านกับคุณแม่ คุณแม่ของคุณครูเป็นคนทำอาหารเก่งมากและได้สอนคุณครูในเรื่องการทำอาหาร กับชีวิตของคุณครูที่บ้านท่านเจ้าคุณพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เวลาที่คุณครูไปเรียนซอสามสายที่บ้านท่าน

     เนื้อหาในหนังสือจะมีความเกี่ยวโยงกันในเรื่องของอาหาร คุณครูใช้คำว่า “การกินอยู่แบบโบราณเป็นอย่างไร” อยู่ที่บ้านกินอย่างไรกับข้าวเป็นแบบไหน แล้วเมื่อขับรถไปที่บ้านที่วัดราชาฯ ไปเรียนซอสามสายที่บ้านท่านเจ้าคุณ บรรยากาศในสมัยโบราณที่บ้านท่านเจ้าคุณเป็นอย่างไรเมื่อสมัยที่คุณครูยังเป็นเด็ก การไหว้ครู อาหารในการไหว้ครูในสมัยนั้นทำอย่างไร มีอะไรบ้าง มีหัวหมู มีขนมต้มขาวต้มแดง ตำน้ำพริกโขลกทำกันอย่างไร แล้วพอกลับมาที่บ้านคุณแม่ทำข้าวแช่ให้ทาน

     และนี่คือเรื่องราวในหนังสือที่คุณครูมีความตั้งใจวางแผนไว้ว่าจะเขียนขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายในชีวิตอีกอย่างหนึ่งของคุณครูศิริพันธุ์ นอกเหนือจากการดูแลร้านอาหารและการถ่ายทอดวิชาซอสามสายให้แก่ลูกศิษย์

     สุดท้ายคุณครูศิริพันธุ์ได้ให้ทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีไทยในปัจจุบันว่า คุณครูมีความชื่นชมอย่างมาก ที่ในปัจจุบันยังมีคนรุ่นใหม่ที่ยังใฝ่เรียนรู้และอนุรักษ์ดนตรีไทยอยู่ ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็มีการเรียนการสอนดนตรีไทยกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งคุณครูได้มีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเรียนดนตรีไทยในอดีตที่มีความแตกต่างจากในปัจจุบันอย่างมาก การเรียนดนตรีไทยในสมัยนี้ไม่ต้องลำบากเหมือนในอดีต ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักดนตรีไทยมีความลำบากไม่เหมือนในสมัยนี้ นักดนตรีไทยในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องใช้ชีวิตด้วยความยากจน อาศัยการสอนดนตรีไทยซึ่งเป็นวิชาชีพเพียงอย่างเดียวที่สร้างรายได้เพียงน้อยนิดในการหาเลี้ยงชีพ เป็นความโชคดีของดนตรีไทยและนักดนตรีไทยในปัจจุบันที่มี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชู ทำให้วงการดนตรีไทยในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น อีกทั้งคุณครูยังได้ให้ข้อเสนอแนะในการสอนดนตรีในปัจจุบันว่าควรมีการเรียนการสอนอย่างถูกต้อง มีครูผู้สอนที่มีความชำนาญและเพียงพอต่อจำนวนเด็กนักเรียน การเรียนการสอนควรมีการปลูกฝังให้เด็กเกิดจิตวิญญาณในการเป็นนักดนตรีที่ดี ในการเรียนและการเล่นดนตรีควรมีการจัดพื้นที่สำหรับการเรียนและเล่นดนตรีให้เพียงพอ โดยมีความเหมาะสมกับการเรียนในเครื่องดนตรีนั้น ๆ ดนตรีไทยในปัจจุบันควรมีการเรียนที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาบ่มเพาะกำลังนักดนตรีไทย กำลังของครูดนตรีไทยที่มีความรู้ความชำนาญอย่างถูกต้องและเพียงพอ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมดนตรีไทยซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ชาติต่อนักเรียนที่มีความสนใจในวิชาดนตรีไทยอย่างทั่วถึงในทุก ๆ สถาบันการศึกษาในอนาคตต่อไป

Credit

#ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

#นายวัชรคม โสภณดิลก

#ร้านอาหารไทยซอสามสาย

https://sawsamsaicatering.com/restaurant

#ซอสามสายเคเทอริ่ง https://sawsamsaicatering.com/

#ซอสามสาย #ครูศิริพันธุ์ #ซอ 3 สาย #sawsamsai #ซอ สาม สาย แค ท เท อ ริ่ ง #ซอ สาม สาย เค เท อ ริ่ ง #sawsamsaicatering #ซอ สาม สาย จัด เลี้ยง #ซอ สาม สาย รับ จัด เลี้ยง นอก สถาน ที่ #ซอ สาม สาย อาหาร #about us #catering #รับจัดเลี้ยง #our story #about us #catering #รับจัดเลี้ยง #our story #about us #catering #รับจัดเลี้ยง #our story #about us #catering #รับจัดเลี้ยง #our story #about us #catering #รับจัดเลี้ยง #our story #ซอสามสาย #ครูศิริพันธุ์ #ซอ 3 สาย #sawsamsai #ซอ สาม สาย แค ท เท อ ริ่ ง #ซอ สาม สาย เค เท อ ริ่ ง #sawsamsaicatering #ซอ สาม สาย จัด เลี้ยง #ซอ สาม สาย รับ จัด เลี้ยง นอก สถาน ที่ #ซอ สาม สาย อาหาร